เลนส์จะมีกลไกในการควบคุมขนาดความกว้างของช่องผ่านแสงด้วยม่านไดอะแฟรม เราเรียกขนาดของช่องผ่านแสงนี้ว่ารูรับแสง (Aperture) แสดงเป็นค่า f (f-number) โดยทั่วไปเราจะพอทราบว่าขนาดของรูรับแสงใช้กำหนดปริมาณแสงที่วิ่งผ่านเลนส์ไปยังเซ็นเซอร์รับภาพ แต่ในความเป็นจริงนั้นยังมีผลกระทบข้างเคียงอีกหลายอย่างที่ผู้ถ่ายภาพมือใหม่ทุกท่านต้องศึกษาเอาไว้
รูรับแสง กับ ปริมาณที่แสงวิ่งผ่านเลนส์ (Aperture with Shutter Speed)
เลนส์ถ่ายภาพจะอนุญาตให้ผู้ใช้งานกำหนดขนาดของรูรับแสงได้หลายขนาด ขนาดของรูรับแสงนั้นส่งผลกระทบต่อปริมาณแสงที่วิ่งผ่านเลนส์โดยตรง ถ้ารูรับแสงมีขนาดกว้างมากแสงจะวิ่งเข้าสู่เลนส์ได้มากทำให้ใช้เวลาในการเก็บแสงน้อย (เช่นในเวลากลางวันจะถ่ายภาพได้เบลอน้อยกว่ากลางคืน) และถ้ารูรับแสงมีขนาดเล็กก็จะต้องใช้เวลามากขึ้นในการเก็บแสง ซึ่งถ้าระหว่างนั้นมีการสั่นไหวของกล้องเกิดขึ้นจะทำให้ภาพเบลอได้ในที่สุด
อุปกรณ์ที่มีลักษณะคล้ายใบมีดบางๆเพื่อใช้ในการสร้างกลไกขนาดของรูรับแสงว่าจะขยายหรือหดตัวนั้นเรียกว่า ไดอะแฟรม (Diaphragm) ทำงานคล้ายคลึงกับม่านตาของมนุษย์ (เช่น ในที่มืดม่านตาจะขยายและในที่แสงจ้าม่านตาจะหดเพื่อให้รับแสงได้พอดี)
รูรับแสง กับ ช่วงระยะชัด (Aperture with Depth of Field)
รูรับแสงยังใช้กำหนดการละลายสิ่งที่อยู่นอกเหนือโฟกัสออกไปของภาพได้ด้วย ช่วงระยะชัด (Depth of Field) จึงหมายถึงอาณาเขตของโฟกัสทั้งหมดนับตั้งแต่ระยะโฟกัสด้านหน้าไปจนถึงระยะโฟกัสด้านหลัง หรืออาจจะหมายถึง ระยะที่ให้ความคมชัดกับภาพจากหน้าไปหลังก็ได้
จากตัวอย่างภาพที่แสดงให้เห็นของค่า F จากกล้อง Sigma DP3 Quattro ที่ผู้สอนใช้อยู่ ซึ่งมีค่ารูรับแสงตั้งแต่ f/2.8 ถึง f/16 จะเห็นได้ว่าที่ระยะชัดของ f ที่กว้างที่สุดนั้นจะตื้นมากที่สุด และค่า f ที่แคบที่สุดจะให้ช่วงระยะชัดของภาพมากที่สุด
ทั้งนี้ทั้งนั้นระยะชัดไม่ได้เกี่ยวข้องกับความคมชัด ที่เลนส์ให้โดยตรง เราต้องทำความเข้าใจ “ขีดจำกัดการกระเจิงแสง” (Diffraction Limited) ของเลนส์นั้นด้วยครับ
รูรับแสงกับขีดจำกัดของการกระเจิงแสง (Aperture with Diffraction Limited)
ถ้าหากผู้เรียนได้ลองถ่ายภาพในมุมเดิมแสงเดิม แต่ลองปรับค่า f ให้มากขึ้นเพื่อหรี่รูรับแสงให้เล็กลงเรื่อยๆจนเล็กมากที่สุดจะพบว่าความคมชัดของภาพจะมากที่สุดใน f ค่าหนึ่งของเลนส์เท่านั้น ซึ่งจะลดลงเรื่อยๆหากปรับให้หรี่ลงจนถึงที่สุด
เราสามารถอธิบายปรากฏการณ์ของแสงที่กระเจิงตัวออกไปจนภาพเริ่มลดความคมชัดลงได้ด้วยภาพด้านล่างที่แสดงถึงการกระจายตัวของคลื่นแสง ซึ่งอธิบายได้ว่าถึงระยะโฟกัสจะกินอาณาบริเวณมากยิ่งขึ้นแต่ความคมชัดจะลดทอนลงไปอันเป็นผลมาจากการฟุ้งกระจายของแสงนั่นเอง
ปัจจัยสืบเนื่องมาจากปรากฏการณ์ดังกล่าวยังเกี่ยวข้องกับขนาดของพิกเซลที่เซ็นเซอร์ เช่นถ้าเซ็นเซอร์ที่ใช้มีขนาดเล็กโอกาสที่จะเกิดการกระเจิงของแสงก็มีมากยิ่งขึ้น หรือการใช้เลนส์ที่มีคุณภาพต่ำก็มีผลอีกด้วยเช่นกัน
ลองหาค่า f ที่ให้ภาพคมชัดที่สุดของเลนส์กันดูนะครับ
Basic Photography : Newbie QuickStart
แนะนำหลักสูตร
ราคา 1,490 บาท
(ติดต่อเพจเท่านั้น)
หลักสูตรรูปแบบคลิปวิดีโอตลอดชีพในกลุ่ม Facebook
เปลี่ยนคำว่ามือใหม่ให้กลายเป็น ‘ช่างภาพ’ ในเวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมง
เหมาะสำหรับผู้เริ่มต้นที่ต้องการก้าวหน้าเร็วกว่าใคร