หนึ่งในองค์ประกอบของอารยธรรมมนุษย์ คือ ปัญญาความคิด เป็นวิทยาศาสตร์และความรู้พื้นฐานรวมไปถึงทฤษฎีในด้านต่างๆ เริ่มมีการถ่ายทอดความรู้ต่อๆกันมาว่ารู้ว่ามนุษย์ส่วนมากมักกลัวความมืด เกลียดความเจ็บปวด หรือพึงใจชื่นชมสิ่งที่มีกลิ่นหอม ทั้งหมดเกิดจากการรวบรวมและสรุปออกมาเป็นข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ สอดคล้องหลักการและเหตุผลแถมยังพิสูจน์ได้
องค์ประกอบของอารยธรรรม
อาจกล่าวได้ว่าทุกอย่างในจักรวาลล้วนมีที่มาที่ไป แต่เหตุผลที่เราไม่สามารถอธิบายมันได้ในตอนนี้เป็นเพราะขีดจำกัดทางความรู้ซึ่งยังไม่มากพอ แล้วตอนนี้ช่างภาพควรรู้อะไรเพื่อที่จะช่วยให้ทัศนคติของตัวเองเป็นไปอย่างเป็นลำดับขั้นตอนและไม่หลงไปกับสิ่งนอกเหนือแนวทางที่ควรจะเป็น
ศิลปะคือการเล่าเรื่อง ศิลปะแขนงต่างๆมีความไม่เหมือนกันว่าด้วยสิ่งที่ใช้เป็นสื่อ อาทิ ช่างภาพใช้รูปภาพ 1 รูป หรือ 1 อัลบั้มในการเล่าเรื่อง, ผู้กำกับภาพยนตร์ใช้ภาพเคลื่อนไหวที่มีความยาวต่อเนื่องประมาณ 1 ชั่วโมง หรือ ประติมากรใช้ผลงานปูนปั้นของตนเองบอกเล่าความงามสิ่งที่ตัวเองรังสรรค์ขึ้นมา ทุกอย่างล้วนเป็นการเล่าเรื่องเพียงแต่ต่างกันด้วยสื่อในมือของพวกเขา
ใน 1 ภาพ ประกอบไปด้วยเทคนิคและความรู้มากมายของช่างภาพ Source : Min An
ช่างภาพจะถ่ายทอดความโศกเศร้าออกมาใน 1 เฟรมภาพได้อย่างไร? หากคิดถึงสาระสำคัญที่ละเอียดลงไปแล้วจะพบว่าเป็นเหตุและผลที่พิสูจน์ได้ทั้งหมด เช่น การบันทึกภาพให้มืดกว่าความเป็นจริงสักเล็กน้อยด้วยรูรับแสงที่แคบลง, ความเร็วชัตเตอร์ที่สูงขึ้น, ความไวแสงที่ต่ำลง ฯลฯ หรือหลีกเลี่ยงการใช้เลนส์ที่ให้ปฏิกิริยาความนุ่มนวลในรายละเอียดของภาพ ตลอดจนการจัดองค์ประกอบที่แม่นยำเพื่อให้ผู้รับชมภาพนั้นโฟกัสที่วัตถุสนใจหลักเพียงอย่างเดียว
ตลอดจนทักษะการตกแต่งภาพถ่ายด้วยเครื่องมือและองค์ความรู้โน้มน้าวอารมณอย่างมากมาย โปรดอย่าลืมว่าความพยายามอย่างอดทนทั้งหมดนี้ทำไปเพื่อให้ผู้รับชมภาพเข้าใจในแนวทางเดียวกันอย่างมากที่สุด นั่นคืิอ ‘ความโศกเศร้า’
นอกไปจากการจดบันทึกข้อมูลด้วยอักษร อีกสิ่งที่มีไว้อธิบายภาษาทางธรรมชาติโดยมนุษย์ที่ทรงพลังคือ ‘ตัวเลข’ ช่างภาพจะรู้ว่าพวกเขายังเพิ่มความเร็วชัตเตอร์ขึ้นเป็นสองเท่าเพื่อบันทึกสิ่งที่กำลังเคลื่อนไหวให้นิ่งสนิท หรือทำให้เกิดการเคลื่อนไหวเป็นเส้นด้วยการลดความเร็วชัตเตอร์ลงครึ่งหนึ่งด้วยวิธีการใดบ้าง หรือรู้ขีดจำกัดความสามารถของตนเองว่าจะประคองความเร็วชัตเตอร์ด้วยมือเปล่าอย่างไร ดังที่ได้กล่าวไว้ในหลักสูตรเอกลักษณ์ของ DozzDIY อย่าง ‘ถ่ายกับมือ’ เอาไว้แล้วอย่างละเอียด
เลโอนาร์โด ดา ปิซา ได้ค้นพบว่าการเกิดขึ้นอย่างมีรูปแบบของสิ่งต่างๆในธรรมชาติล้วนอธิบายได้ด้วยตัวเลขชุดหนึ่งซึ่งต่อมามันถูกนำมาใช้ในการศิลปะรวมไปถึงหลักการออกแบบข้าวของเครื่องใช้สำหรับมนุษย์อย่างแพร่หลาย
อนุกรมฟีโบนัชชีใช้อธิบายการเกิดขึ้นของสรรพสิ่งในธรรมชาติ
ในอดีตนั้นมีอัจฉริยะบุคคลที่มีความรู้ความสามารถหลายทาง เช่น เป็นนักเคมีและสามารถเล่นดนตรีได้อย่างน่าทึ่ง หรือเป็นศิลปินและศาสตราจารย์ทางฟิสิกส์ไปพร้อมๆกัน เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น? และทำไมทัศนคติของกลุ่มหนึ่งในปัจจุบันนั้นคิดว่าผู้ที่ร่ำเรียนศิลปะจึงแยกออกจากวิทยาศาสตร์
ทั้งที่จริงแล้วทั้งสองนี้ไม่เคยแยกจากกัน ช่างภาพจะเล่าเรื่องได้อย่างทรงพลังจากสิ่งที่เป็นเหตุเป็นผลเหล่านี้ จะโดยรู้หรือไม่รู้ตัวหรือไม่เคยเรียนมาเลยก็ตาม แต่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนมีและคงอยู่ซึ่งพวกเขาต่างใช้สิ่งเหล่านี้ตลอดเวลา
แม้แต่เรื่องราวของผู้คนในชีวิตประจำวันล้วนถูกบอกเล่าด้วยสีหน้าหรือท่าทางที่แต่งเสริมเติมแต่งทางอารมณ์ของผู้เล่าอยู่เสมอ เทคนิคเหล่านี้ช่วยสะกดให้ผู้รับสารเหล่านั้นรับรู้ถึงเนื้อหาที่ลึกซึ้งกินใจมากขึ้น ดังนี้แล้วความเป็นเหตุและผลจะไม่ช่วยให้ศิลปะสื่อสารออกไปอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร
การเล่าเรื่องจะมีประสิทธิภาพเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับทักษะและความรู้ ขึ้นอยู่กับความเป็นเหตุและผลทางวิทยาศาสตร์ มันอาจจะถูกนำมาใช้ในเชิงจิตวิทยามนุษย์กึ่งหนึ่งแต่ล้วนเป็นไปเพื่อความสำเร็จในการสื่อสาร ผู้ที่เข้าใจศิลปะย่อมเข้าใจธรรมชาติ ด้านการถ่ายภาพเขาก็ย่อมโน้มน้าวอารมณ์ได้ดีกว่าคนที่ไม่รู้ ดังที่ได้กล่าวไว้ว่า ‘ศิลปศาสตร์’ และ ‘วิทยาศาสตร์’ ไม่อาจแยกจากกัน