ความรู้ความเข้าใจในการเลือกเลนส์ถ่ายภาพ

เลนส์แต่ละตัวมีเอกลักษณ์เฉพาะและถูกสร้างขึ้นมาด้วยหน้าที่ๆต่างกันออกไป เช่นเลนส์มุมกว้างใช้ในการถ่ายภาพภูมิทัศน์, เลนส์มาโครใช้ถ่ายรายละเอียดหรือสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก การก้าวข้ามผ่านเลนส์ที่แถมติดตัวมากับกล้องในตอนแรกสำหรับผู้ที่ใช้กล้องเปลี่ยนเลนส์ได้จึงเป็นปัญหาใหญ่ทีเดียว และเนื้อหาส่วนนี้คือการเจาะลึกในสิ่งที่จำเป็นต้องรู้ แน่นอนว่ามันจะเปลี่ยนชีวิตการถ่ายภาพของผู้เรียนให้ดีขึ้นได้อย่างมากหากเลือกใช้เลนส์ได้อย่างถูกต้องตามสถาณการณ์

ปัจจัยเบื้องต้นในการเลือกซื้อเลนส์

เรากำลังพูดถึงความแตกต่างระหว่าง “ความต้องการ” และ “ความจำเป็น” ในการเลือกใช้เลนส์สักตัว เพราะเลนส์ที่มีขายอยู่มากมายตามท้องตลาดนั้นมีมากมายหลากหลายยี่ห้อทั้งเลนส์จากค่ายผู้ผลิตกล้องนั้นๆเองหรือเลนส์จากค่ายอิสระ หากผู้เรียนไม่มีความเดือดร้อนเรื่องเงินอยู่แล้วการเข้าถึงความเป็นที่สุดของเลนส์ในสายงานนั้นอาจไม่ใช่เรื่องยาก แต่ถ้าไม่.. ความถูกต้องในวัตถุประสงค์ของการใช้งานจึงควรคำนึงถึงเป็นอันดับแรก จากนั้นค่อยพิจารณาถึงแนวทางการแก้ไขจุดบกพร่องของเลนส์ดังกล่าวต่อไป

ยกตัวอย่างเช่น นาย A ต้องการใช้เลนส์สำหรับถ่ายภาพบุคคลซึ่งกล้องถ่ายภาพที่เข้าใช้มีขนาดเซ็นเซอร์แบบฟูลเฟรม (ขนาดของเซ็นเซอร์มีผลต่อมุมการรับภาพด้วย) เงื่อนไขที่นาย A ต้องกำหนดขึ้นมาเป็นอย่างแรกก็คือ “ทางยาวโฟกัสที่เหมาะสมสำหรับการถ่ายบุคคลอยู่ในช่วงใด” เช่น อาจจะ 50mm หรือบางคนชอบที่ระยะ 85mm ซึ่งพอได้ช่วงดังกล่าวนี้กลุ่มเลนส์ที่เลือกซื้อจึงแคบลงมาแล้วจึงพิจารณาถึงเกรดคุณภาพของเลนส์

ปัจจัยเบื้องต้นของผู้เรียนในการเลือกซื้อเลนส์แต่ละตัวมีอะไรบ้าง อธิบายพอสังเขปได้ตามเนื้อหาด้านล่างนี้

froid

ภาพถ่ายบุคคลเทียบเท่าระยะ 48mm บนฟูลเฟรม (Carl Zeiss Touit Planar 32mm f/1.8 APS-C)

canon camera lens

เรื่องอักษรย่อจะได้กล่าวในบทความต่อๆไป [ที่มา]

ตัวอักษรย่อของค่ายผู้ผลิต

อักษรย่อที่ข้างตัวเลนส์เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผู้เรียนต้องทำความเข้าใจและศึกษารายละเอียดให้ดี เนื่องจากรายละเอียดเหล่านี้ระบุถึงคุณสมบัติที่จะได้เมื่อซื้อเลนส์เหล่านั้นมาใช้ด้วย เช่น เลนส์ที่มีการเคลือบผิวหน้าเลนส์ลดแสงสะท้อน, เลนส์ที่มีระบบกันสั่นอยู่ในตัว หรือเลนส์ที่มีคุณสมบัติกันน้ำกันฝุ่น ขอให้ใจเย็นๆก่อนตัดสินใจชื้อโดยการอ่านรายละเอียดจากทางเว็บไซต์หรือดูรีวิวของผู้ใช้งานจริง

ทางยาวโฟกัส

ทางยาวโฟกัสของเลนส์มีหน่วยเป็นมิลลิเมตร (mm) ยิ่งมีค่ามากมุมรับภาพจะยิ่งแคบลงภาพที่ได้จะซูมเข้ามามาก ในขณะที่ทางยาวโฟกัสค่าตัวเลขน้อยๆมุมรับภาพจะกว้างมากขึ้น ค่าทางยาวโฟกัสที่มากหรือน้อยเกินไปอาจทำให้มุมมองที่ได้ต่างออกไปจากสายตาของมนุษย์ (ทางยาวโฟกัสที่ใกล้เคียงมากที่สุดคือระหว่าง 30-50 มิลลิเมตรบนเซ็นเซอร์ขนาดฟูลเฟรม)

มุมรับภาพที่ผิดเพี้ยนไปนั้นมองในแง่ดีก็ช่วยสร้างความสนใจให้กับภาพได้เช่นกัน เช่น ความแปลกตาในเส้นที่โค้งผิดสัดส่วนของเลนส์ตาปลาซึ่งก็คงไม่มีใครซื้อมาเพื่อถ่ายภาพให้ได้สัดส่วนที่ถูกต้องอยู่แล้ว, การเอาเลนส์ทางยาวโฟกัสมากๆมาถ่ายคนเพื่อละลายฉากหลังให้หลุดมากกว่าปกติ หรือการดึงฉากหลังให้เข้ามามากกว่าปกติด้วยเลนส์เทเล ทั้งนี้อยู่กับการพิจารณาของผู้ใช้ในการสร้างสรรค์เป็นหลัก

focallength

ยิ่งทางยาวโฟกัสมากขึ้นมุมรับภาพยิ่งแคบลง

ทางยาวโฟกัสของเลนส์ซูมจะมีค่าตัวเลขสองค่าระบุที่เลนส์อยู่เสมอ เช่น 16-55mm หมายความว่าทางยาวโฟกัสของเลนส์ต่ำสุดเมื่อยังไม่ได้ซูมคือ 16mm และเมื่อหมุนกระบอกซูมจนสุดจะได้ระยะที่ 55mm

dsc_6287_fb

ที่ระยะ 24mm บนฟูลเฟรม Cr : Pongphop Chuanasa

dscf2236_fb

ที่ระยะ 60mm APS-C หรือเทียบเท่า 90mm บนฟูลเฟรม

นอกไปจากนี้ทางยาวโฟกัสยังขึ้นอยู่กับขนาดของเซ็นเซอร์รับภาพ เช่น ทางยาวโฟกัสขนาด 30mm บนเซ็นเซอร์ขนาดฟูลเฟรมภาพที่ได้จะกว้างกว่าทางยาวโฟกัสขนาด 30mm บนเซ็นเซอร์ขนาด APS-C ซึ่งถ้าเราเอาขนาดฟูลเฟรมเป็นเกณฑ์แล้วจะพบกว่า APS-C ต้องคูณด้วย 1.5 หรือ 1.6 เท่าจึงจะมีขนาดเท่าเซ็นเซอร์ฟูลเฟรม

หมายความว่าขนาดทางยาวโฟกัส 30mm บนเซ็นเซอร์ APS-C จะมีทางยาวโฟกัสเท่ากับ 30mm x 1.5 = 45mm บนเซ็นเซอร์ฟูลเฟรมนั่นเองครับ

รูรับแสงกว้างสุดที่เลนส์ทำได้

ค่ารูรับแสงกว้างสุดมักถูกระบุเป็น “f/ค่ารูรับแสงกว้างสุด” ไว้ที่ชื่อรุ่นของเลนส์เสมอ เช่น AF-S Nikkor 50mm f/1.8 G หมายความว่าเลนส์ดังกล่าวสามารถเปิดหน้าเลนส์ได้กว้างสุดที่ f/1.8 โดยที่ตัวเลขรูรับแสงนั้นยิ่งมีเลขน้อยๆจะยิ่งเปิดทางให้แสงวิ่งเข้าผ่านเลนส์ไปบรรจุที่เซ็นเซอร์รับภาพได้มากยิ่งขึ้นหรือมักเรียกว่า “เลนส์ไวแสง”

aperture

เลนส์ที่ให้ค่ารูรับแสงกว้างจะได้เปรียบเลนส์ที่มีค่ารูรับแสงน้อยกว่าในกรณีการถ่ายภาพในที่มืดโดยไม่ใช้แฟลช เช่น ค่า f/1.8 แสงจะวิ่งเข้าได้มากกว่า f/4 ซึ่งนอกไปจากนี้แล้วค่า f ที่กว้างมากยังมีความสัมพันธ์ต่อระยะชัดของภาพอีกด้วยดังภาพด้านล่าง

dsc_1542_fb

ที่ f/1.8 ของ AF-S Nikkor 50mm บน Nikon D750

dsc_5621_fb

ที่ f/8.0 ระยะ 38mm ของ AF-S Nikkor 24-120mm G ED VR บน Nikon D750

กรณีของเลนส์ซูมที่มีค่ารูรับแสงสองค่า เช่น XC 16-50mm f/3.5-5.6 OIS II ที่ค่า f/3.5-5.6 จะหมายความว่าระยะ 16mm ค่ารูรับแสงกว้างที่สุดจะทำได้ที่ f/3.5 และเมื่อซูมจนสุดค่ารูรับแสงที่กว้างที่สุดจะทำได้ที่ 5.6

ประเภทของเบ้าสวมเลนส์

ถ้าจะให้ผ่านเรื่องนี้ไปโดยไม่พูดถึงความเข้ากันได้ของเลนส์กับกล้องถ่ายภาพที่ใช้ก็ดูจะเป็นอะไรที่ผิดพลาดแน่ๆ เพราะมีคนจำนวนมากคิดว่าเลนส์ของค่ายที่ตนเองใช้ก็น่าจะใช้ได้กับกล้องทุกๆรุ่น ซึ่งตามจริงแล้วการเลือกซื้อเลนส์ให้ตรงกับกล้องที่ใช้นั้นไม่ยากเพียงแค่รู้ชื่อของเบ้าสวมเลนส์ที่ใช้ ยกตัวอย่างเช่น เบ้าสวมเลนส์ของกล้องถ่ายภาพดิจิตอลของโซนี่ A7 คือ E-Mount เวลาเลือกซื้อเลนส์ก็ให้ดูว่ามีเลนส์ตัวใดในสายการผลิตที่เป็นของตระกูลเบ้าสวมเลนส์แบบนี้บ้าง

นอกเหนือจากนั้นการแปลงเบ้าสวมเลนส์ให้เข้ากันได้กับเลนส์ที่เป็นของกล้องระบบอื่นก็จำเป็นต้องมีตัวแปลงเบ้าสวม (Adapter Mount) เช่นตัวแปลงเบ้าสวมที่ทำให้เบ้าสวมเลนส์ X-Mount ของกล้องดิจิตอลไร้กระจกจากฟูจิสามารถใส่เลนส์ที่เป้นเบ้าสวมแบบ M240 ซึ่งเป็นเลนส์มือหมุนยุคเก่าได้ แต่นั่นก็จะทำให้เลนส์สูญเสียคุณสมบัติการโฟกัสอัตโนมัติไป

อย่างไรก็ตามในปัจจุบันมีผู้ผลิตที่สามารถแปลงเบ้าสวมให้ใช้กับเลนส์ค่ายอื่นแล้วยังสามารถใช้โหมดโฟกัสอัตโนมัติเหมือนเลนส์สมัยใหม่ได้แล้ว

เบ้าสวมเลนส์ของกล้อง Sony A7 เป็นแบบ E-Mount [ที่มา : Wikipedia]

ขนาดของเซ็นเซอร์ที่ใช้

จากตอนที่แล้ว (คลิก ที่นี่ ย้อนกลับไปตอน “เซ็นเซอร์รับภาพสำคัญต่อการเลือกซื้อกล้องอย่างไร”) ได้กล่าวไว้ว่าเซ็นเซอร์รับภาพที่มีขนาดใหญ่กว่า แสงที่ลอดผ่านจากเลนส์มาตกกระทบก็ย่อมมีมากกว่าเซ็นเซอร์รับภาพที่มีขนาดเล็กกว่า ดังนั้นถ้าจะกล่าวว่าเซ็นเซอร์ที่มีขนาดเล็กกว่าจะได้มุมรับภาพที่แคบลงนั้นคงไม่ผิด และภาพที่ได้ก็ยังมีขนาดเล็กกว่ากล้องถ่ายภาพที่ใช้เซ็นเซอร์ขนาดใหญ่กว่าอีกด้วย

เลนส์ประเภทต่างๆแยกตามการใช้งาน

dscf9280_fb

เลนส์ตาปลา

เลนส์ตาปลาให้มุมรับภาพที่กว้างมากและผิดเพี้ยนที่สุด ภาพที่ได้จึงแปลกตาและมีความน่าสนใจเนื่องจากเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถเห็นได้ทั่วไปในสายตาปกติของมนุษย์ ปกติมักจะมาในทางยาวโฟกัสแบบค่าเดียว เช่น 12mm-18mm เหมาะสำหรับภาพถ่ายสนุกๆไม่ซีเรียสความเที่ยงตรงของทัศนมิติหรือสิ่งใดๆในภาพ นอกจากนี้ก็ยังใช้ถ่ายภาพภูมิทัศน์ที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่อลังการมากๆได้อีกด้วย

เหมาะกับภาพประเภทใด : ภาพถ่ายที่ไม่เน้นความถูกต้องของทัศนมิติมากนัก, ภาพถ่ายภูมิทัศน์ และภาพถ่ายอื่นๆที่ต้องการมุมรับภาพกว้างมากๆเพื่อสร้างความแปลกใหม่

_dsf9259_fb

เลนส์มุมกว้างพิเศษ

เป็นเลนส์ที่มักอยู่ในระยะตั้งแต่ 24mm ขึ้นไปสำหรับเซ็นเซอร์แบบฟูลเฟรม มีความแตกต่างจากเลนส์ตาปลาตรงที่แม้จะรับภาพได้กว้างแต่จะเป็นลักษณะของเส้นพุ่งออกแบบเส้นตรง (ในขณะที่เลนส์ตาปลาเป็นเส้นโค้ง) ลักษณะเฉพาะของเลนส์ในประเภทนี้จะมีระยะชัดที่ค่อนข้างลึกและไม่สามารถทำให้วัตถุใดๆแปลกแยกออกมาจากฉากได้อย่างชัดเจนเท่าไรนัก ความผิดเพี้ยนของเลนส์เมื่อเทียบกับเลนส์ตาปลาแล้วแก้ได้ง่ายกว่าที่โปรแกรมตกแต่งแก้ไขภาพและเทคนิคการใช้งานต่างๆ เหมาะสำหรับการถ่ายภาพภูมิทัศน์หรืองานโครงสร้างที่เน้นความถูกต้องของเส้นสาย หรือจะประยุกต์ถ่ายงานบุคคลแบบแสดงฉากหลังก็ได้

เหมาะกับภาพประเภทใด : ภาพภูมิทัศน์, สถาปัตยกรรมทั้งภายนอกภายในที่เน้นความถูกต้องของเส้น, ภาพถ่ายมุมกว้างประยุกต์กับภาพบุคคล และอื่นๆ

_dpf2962_fb

เลนส์ระยะทั่วไป

เลนส์ระยะทั่วไปมักเป็นเลนส์ตั้งต้นที่ขายพร้อมกับการซื้อกล้องในครั้งแรก ทางยาวโฟกัสจะอยู่ในช่วง 35-70mm ซึ่งก้ำกึ่งระหว่างความเป็นเลนส์มุมกว้างและเลนส์เทเล มุมรับภาพที่ได้คล้ายคลึงกับสิ่งที่มนุษย์มองเห็นมากที่สุดคือที่ระยะ 50mm และเนื่องด้วยมันไม่ถือว่าเป็นเลนส์ที่สามารถนำไปใช้อย่างเฉพาะเจาะจงภาพที่ถ่ายจึงเป็นภาพประจำวันทั่วๆไป เรียกได้ว่าพกติดตัวไปแล้วก็ยากที่จะไม่ได้ภาพกลับมา

เหมาะกับภาพประเภทใด : ภาพถ่ายในระยะกึ่งประชิด เช่นภาพถ่ายทีเผลอ, วัตถุสิ่งของ, ภาพถ่ายที่เน้นความถูกต้องของสัดส่วน (ที่ระยะ 50mm ขึ้นไป), ภาพถ่ายบนท้องถนน, ฯลฯ

dscf9565_fb

เลนส์มาโคร

เลนส์มาโครถือเป็นเลนส์เฉพาะทางที่ให้ “ตัวเลือกพิเศษ” เพิ่มเติมเข้ามานั่นคือการถ่ายภาพในระยะที่ใกล้วัตถุมากๆเพื่อขยายรายละเอียด ทางยาวโฟกัสของเลนส์ประเภทนี้ค่อนข้างกว้าง คือราวๆ 40-200mm ให้ภาพที่มีความคมชัดรายละเอียดสูง และระยะชัดที่ค่อนข้างตื้นมากอันเนื่องมาจากการถ่ายวัตถุในระยะใกล้สายตาทิ้งกับฉากหลัง

เหมาะกับภาพประเภทใด : หลายคนอาจคิดว่าเลนส์มาโครจะต้องถ่ายสิ่งมีชีวิตหรือสิ่งของขนาดเล็กจิ๋วเพียงอย่างเดียว ซึ่งความจริงแล้วนั้นเราสามารถประยุกต์ใช้ถ่ายภาพบุคคลได้เป็นอย่างดีอีกด้วย เนื่องจากมีระยะที่ค่อนข้างหลากหลาย อีกทั้งให้ความคมชัดและรายละเอียดที่ดี

dsc_7048_fb

เลนส์เทเลโฟโต้

เลนส์เทเลโฟโต้เป็นเลนส์ที่มีมุมรับภาพแคบซึ่งมีระยะของทางยาวโฟกัสตั้งแต่ 70mm ขึ้นไปโดยที่บางคนก็อาจเถียงว่าทางยาวโฟกัสที่ 135mm ขึ้นไปต่างหากจึงจะเป็นเลนส์เทเล คุณสมบัติสมบัติของเลนส์ตัวนี้นอกจากจะโฟกัสวัตถุใดๆให้เด่นออกมาจากฉากหลังได้อย่างมากแล้วก็ยังดึงฉากหลังให้มีขนาดใหญ่เข้ามามากกว่าเดิมด้วย เช่นการถ่ายดวงจันทร์ให้มีขนาดใหญ่ซึ่งจะทำไม่ได้เลยสำหรับเลนส์ที่มีมุมรับภาพกว้างๆ

เหมาะกับภาพถ่ายแบบใด : ภาพถ่ายสัตว์หรือสิ่งต่างๆที่ไม่สามารถเข้าใกล้ได้, ภาพถ่ายที่มีการละลายฉากหลังมากๆ, ภาพถ่ายบุคคลที่ต้องการความโดดเด่น และในบางครั้งก็ใช้ถ่ายภาพภูมิทัศน์สำหรับฉากที่อยู่ห่างไกลออกไปมากๆ

16649993515_3276391ab6_k

เครดิต : [Flickr]

เลนส์ที่มีกำลังซูมมากๆ

เลนส์ลักษณะนี้มักติดมากับกล้องที่ไม่สามารถเปลี่ยนเลนส์ได้ อย่างเช่นกล้องแบบ DSLR-Like เพราะเป็นเลนส์เอนกประสงค์ที่มีช่วงของความยาวโฟกัสตั้งแต่มุมรับภาพกว้างที่สุดไปจนถึงแคบที่สุด เรียกชื่อได้อีกอย่างว่าเลนส์แบบซูเปอร์ซูม (Superzoom Lens) เหมาะกับคนที่ต้องการจบด้วยการซื้อกล้องเพียงครั้งเดียวแล้วไม่อยากเสียเงินซื้อเลนส์อีก (เพราะเปลี่ยนไม่ได้นั่นเอง) ข้อเสียของคือคุณภาพอาจสู้เลนส์เฉพาะทางไม่ได้

เหมาะกับภาพถ่ายแบบใด : ภาพถ่ายทุกประเภทตั้งแต่ภาพมาโคร, ภูมิทัศน์ ไปจนถึงภาพถ่ายบุคคลและภาพถ่ายกีฬา เรียกว่าถ่ายได้ทุกชนิด

ปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้องในการเลือกซื้อเลนส์ถ่ายภาพ

ขนาด,น้ำหนัก และราคาของเลนส์

เลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสมากๆ, รูรับแสงกว้างมากๆ ขนาดและราคาก็มากเป็นเงาตามตัว เรียกได้ว่าเหมือนยกท่อนเหล็กหนักหลายๆกิโลติดตัวไปตลอดเวลา ทีนี้เมื่ออยู่ในช่วงตัดสินใจซื้อก็ต้องชั่งใจไว้ว่ามีโอกาสได้ภาพมากน้อยแค่ไหนหรือจะล้มเลิกกลางคันที่จะใช้หรือไม่ หรือว่าจะพกเลนส์ทางยาวโฟกัสอื่นเพิ่มเติมหรือไม่, ต้องแบกกระเป๋าหรือซื้ออุปกรณ์ปกป้องเลนส์ดังกล่าวอีกเท่าไหร่ เรียกว่าไม่ง่ายนักสำหรับการซื้อเลนส์ในแต่ละครั้งซึ่งนั่นก็ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยของแต่ละคนอีกด้วย

pricevaluegraph

388516888_1280x720

ระบบกันสั่นมีประโยชน์มากกับเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสเยอะๆ [ที่มา]

ระบบกันสั่น

หลายคนอาจยกให้นี่เป็นคุณสมบัติพื้นฐานของเลนส์ที่จะเลือกใช้เลยทีเดียว เนื่องจากว่าระบบกันสั่นในตัวเลนส์นี้จะช่วยให้ผู้ใช้งานได้ภาพในขณะที่ความเร็วชัตเตอร์ต่ำกว่าปกติ ซึ่งนั่นหมายความว่าช่วยลดโอกาสในการพกขาตั้งหรือถ่ายภาพในที่แสงน้อยเพิ่มได้ด้วย และข้อดีของระบบกันสั่นนี้ยังช่วยให้ภาพที่ได้จากไฟล์วิดีโอที่บันทึกมีความนุ่มนวลดูเป็นมืออาชีพ

การซีลห่อหุ้มตัวเลนส์เพื่อปกป้องจากสภาวะที่รุนแรง

ถ้าเลนส์ที่ซื้อมีเขียนไว้ว่า WR หรือ Weather-Sealing ก็ขอให้อุ่นใจไว้ได้เลยว่ามันจะช่วยปกป้องกล้องถ่ายภาพดิจิตอลจากความเลวร้ายของสภาพภูมิอากาศสูงๆต่ำๆได้ดีกว่าเลนส์ที่ไม่มีคุณสมบัตินี้ และยังช่วยลดโอกาสที่เลนส์จะเสียหายจากน้ำและฝุ่น ข้อดีมากถึงขนาดนี้ก็ทำใจไว้ก่อนเลยว่าราคาจะต้องสูงกว่าเลนส์ปกติธรรมดาทั่วไปเพราะใช้วัสดุและเทคโนโลยีที่สูงกว่า

sigma_150-600mm_f5-f6-3_dg_os_hsm_c_lens_1_-_diliff

Sigma APO 150-600mm F5-6.3 DG OS HSM Contemporary [ที่มา]

samyang_8mm_f3-5_fish-eyes

Samyang 8mm f/3.5 [ที่มา]

เลนส์จากผู้ผลิตอิสระ

มีผู้ผลิตอิสระไม่น้อยที่ผลิตเลนส์คุณภาพดีให้ใช้งานร่วมกับกับกล้องถ่ายภาพดิจิตอลของเราได้ ยกตัวอย่างเช่น Sigma, Carl Zeiss, หรือ Samyang ทำให้กลุ่มเลนส์ที่มีให้เลือกใช้งานหลากหลายมากยิ่งขึ้น ซึ่งในบางครั้งก็มีเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสแบบเดียวกับเลนส์ค่ายแต่ราคาหรือคุณภาพสมเหตุสมผลมากกว่า ตรงนี้ขอให้พิจารณากันดีๆนะครับ

การเลือกใช้เลนส์ตามวัตถุประสงค์การใช้งาน

ชอบถ่ายภาพสตรีท, ภาพทีเผลอ

เลนส์ที่เหมาะสำหรับความต้องการในระดับนี้มักจะเป็นเลนส์ในระยะทั่วไปที่ต้องการทั้งความเป็นวัตถุบุคคลและสิ่งรอบข้าง การโฟกัสที่รวดเร็วแม่นยำ ยิ่งถ้ามีค่ารูรับแสงกว้างสุดเป็นต่ำๆก็ยิ่งเพิ่มโอกาสได้ภาพในที่แสงน้อยเข้าไปด้วย ข้อเสียของเลนส์ที่มุมรับภาพเป็นแบบปกติที่เคยเห็นผู้ใช้จะต้องพัฒนามุมมองและจังหวะการเก็บภาพให้ดี ซึ่งนั่นเป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งของช่างภาพสตรีท

ถ่ายภาพแบบไม่เจาะจงทั้งวัน

เลนส์ที่ซูมได้ดูเหมือนจะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าเพราะเมื่อถึงโอกาสสำหรับเหตุการณ์ใดๆก็ไม่จำเป็นที่จะต้องพกเลนส์มาเปลี่ยนให้ดูมีภาระเกินความจำเป็น โดยที่ระยะแนะนำก็มีตั้งแต่เลนส์ทางยาวโฟกัสต่ำๆแบบมุมกว้างพิเศษ ไปจนถึงเลนส์ทางยาวโฟกัสทั่วไป หรือใครจะชอบทางยาวโฟกัสที่ครอบคลุมทุกระยะเลยก็ยังได้

ชอบถ่ายภาพวิว, สถานที่ท่องเที่ยว หรือภาพที่ดูยิ่งใหญ่

เลนส์มุมกว้างคือคำตอบแล้วล่ะครับ เพราะให้มุมรับภาพที่กว้างกว่าสายตาปกติของมนุษย์ซึ่งจะบรรจุเอาสิ่งต่างๆที่มีในภาพมารวมกัน ทั้งยังใช้งานได้ง่ายแบบไม่ต้องเดินถอยหลังไปไกลๆกว่าจะเก็บส่วนต่างๆได้ครบ ทางยาวโฟกัสที่แนะนำก้มีตั้งแต่เลนส์ตาปลาไปจนถึงเลนส์มุมกว้าง เรียกว่ายิ่งกว้าเท่าไหร่ก็ยิ่งเก็บสิ่งต่างๆไว้ในภาพได้มาก ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการและสภาพแวดล้อมตอนบันทึกภาพด้วย

ต้องการภาพถ่ายคุณภาพสูงสุดในระยะนั้นๆ

สำหรับความต้องการลักษณะนี้แนะนำเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสค่าเดียวเนื่องจากว่าชิ้นเลนส์ที่ใช้ในกระบอกจะมีน้อยชิ้นกว่าและเป็นแบบฝังติด ซึ่งเมื่อเทียบกันกับเลนส์ซูมจะมีชิ้นส่วนเลนส์ที่เลื่อนไปมาได้ทำให้คุณภาพของภาพถ่ายที่ได้ถูกลดลอนลงไป ผู้ที่ต้องการเลนส์ในลักษณะดังกล่าวก็ต้องเตรียมเงินไว้มากสักหน่อยเนื่องจากราคาเลนส์ทางยาวโฟกัสเดี่ยวๆราคาก็ไม่ใช่ย่อย เผลอๆจะเป็นเลนส์เกรดที่ดีที่สุดในระยะนั้นๆด้วย

ข้อสรุป

เห็นได้ว่าชนิดของเลนส์ที่แตกต่างกันจะมีวัตถุประสงค์ในการใช้งานที่ต่างกันออกไป ทั้งยังช่วยสร้างสรรค์ภาพให้เกิดความโดดเด่นสวยงามได้ง่ายกว่าเลนส์ที่ทำออกมาเพื่อความต้องการกว้างๆ ทั้งหมดนี้ก็เป็นเหตุผลคร่าวๆที่ช่างภาพมืออาชีพส่วนใหญ่มักเลือกใช้เลนส์ที่ถอดเปลี่ยนเลนส์ได้มากกว่าที่จะใช้เลนส์ที่ติดกับตัวกล้อง

ข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งจากบทความนี้คือ ราคามักเป็นสิ่งที่แปรผันตรงตามคุณภาพของเลนส์ ยิ่งต้องการได้เลนส์ที่มีคุณภาพดีมากยิ่งต้องใช้เงินมาก การพิจารณาถึงสิ่งที่เกินความจำเป็นสำหรับผู้ที่มีงบน้อยยิ่งจำเป็นต้องคำนึงถึงเหตุเกินควรที่ตัดทิ้งออกไปได้ เช่น ความจำเป็นในการใช้เลนส์ที่มีความเร็วสูงนั้นจำเป็นมากน้อยแค่ไหนถ้าซื้อมาเพื่อถ่ายในสตูดิโอเพียงอย่างเดียว หรือสิ่งที่จะได้จากเลนส์ตัวนั้นเพียงพอแล้วหรือไม่กับการนำไปใช้

ทั้งหมดนี้คือหลักในการทำความเข้าใจในเลนส์ประเภทต่างๆเพื่อช่วยให้ตัดสินใจได้ง่ายมากขึ้น อย่างไรก็ตามการหาข้อมูลรีวิวตามแหล่งต่างๆยังคงมีความจำเป็น อย่าให้ต้องสูญเงินไปกับเลนส์ที่ไม่ตรงตามความต้องการนะครับ

บทความที่เกี่ยวข้องในหมวดนี้
ฝึกฝนนิสัยถ่ายภาพด้วยเลนส์ไพร์ม

สิ่งที่ได้จากการใช้เลนส์ทางยาวโฟกัสเดียวไปสักระยะจะส่งผลต่อช่างภาพมือใหม่เพื่อฝึกฝนความอดทนและทลายขีดจำกัดของเลนส์ตัวนั้นได้อย่างไร เราจะได้เจาะลึกถึงการเติบโตด้วยข้อจำกัดเหล่านี้กัน

ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ช่วยให้ถ่ายภาพดีขึ้นอย่างไร?

ปัจจัยชี้วัดว่าช่างภาพใช้รูปของพวกเขาได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ขึ้นอยู่กับเคล็ดลับหรือกลเม็ดต่างๆที่ได้ศึกษามา บทความนี้จะได้มีการอธิบายถึงที่มาที่ไปของศิลปศาสตร์สาขาการถ่ายภาพนิ่งในมุมของของกลไกการเล่าเรื่องที่ผลักดันด้วยวิทยาศาตร์เพื่อชี้ให้เห็นว่าแท้จริงแล้วองค์ความรู้นั้นท้ายที่สุดมีความเชื่อมโยงกันทั้งหมด

พื้นฐานความเข้าใจเกี่ยวกับ ‘ช่วงระยะชัด’

ช่วงระยะชัด (Depth of Field – ‘DoF’) เป็นความสำคัญอย่างหนึ่งที่ผู้รักการถ่ายภาพทุกท่านจำเป็นต้องทราบและมีความเข้าใจเป็นอย่างดีเพราะตัวแปรดังกล่าวนี้สามารถปรับปรุงฝีมือการถ่ายภาพเพื่อก้าวไปสู่ความเป็นผู้บันทึกภาพที่มีความชำนาญสูงยิ่งขึ้นไปได้

ร้านค้าออนไลน์ภายใต้ชื่อผู้ก่อตั้ง ‘Dozzo Flamenco’ ที่นี่จะมีผลิตภัณฑ์สื่อการสอนและเทรนนิ่งคลาสระดับคุณภาพเท่านั้น

บทความล่าสุด >>
เกรนกับความคมชัดของภาพถ่าย

ถ้าเพิ่มเกรนน้อยเกินไปภาพก็ดูเหมือนจะไม่มีความแตกต่าง แต่ถ้าใส่มากเกินไปภาพก็แข็งกระด้าง ดังนั้นควรมีเกรนในปริมาณเท่าใดในภาพจึงจะช่วยให้ภาพดูดีขึ้น และใช่ เรากำลังพูดถึงเกรนในมุมที่เกี่ยวข้องกับความคมชัดของภาพถ่ายครับ

การใช้งานคู่สีตรงข้าม

เรื่องของคู่สีรายล้อมรอบตัวเราอยู่ตลอดเวลา และ ‘คู่สีตรงข้าม’ (Complementary Colors) ก็จัดว่าเป็นการเข้าคู่ที่รุนแรงและทรงพลังอย่างมาก หากจะหยิบมาเพื่อใช้งานต้องเรียนรู้และเข้าใจวิธีหลีกเลี่ยงผลลัพธ์เชิงลบบางประการจึงจะเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลวส่วนบบุคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า