บทวิจารณ์ : Sigma 50mm f/1.4 DG HSM Art 014 (SA Mount)

เลนส์ทางยาวโฟกัสมาตรฐาน 50mm กำลังขยายสูงในอนุกรม Art เป็นการเปิดศักราชใหม่กับการใช้งานของ DozzDIY บนตัวกล้อง Sigma SD Quattro H ที่ให้ความชัดเจนในรายละเอียดทุกอณู Sigma 50mm f/1.4 DG HSM Art 014 คือสุดยอดเลนส์ตัวหนึ่งที่พกพาไปได้ทุกสมรภูมิการถ่ายภาพ

Sigma 50mm f/1.4 DG HSM Art เป็นเลนส์ที่ผู้สอนได้ใช้อย่างเป็นทางการตั้งแต่ทริปกระบี่เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2560 ก่อนหน้านี้เคยใช้มาแล้วคร่าวๆสองตัว คือ Sigma 18-35mm DC HSM Art และ Sigma 35mm DG HSM Art จากข้อมูลที่สอบถามคนรู้จักที่เคยใช้มักเป็นเลนส์ที่ประกบอยู่บนกล้องต่างค่าย (เบ้าสวมของค่ายอื่น) การจะดึงขุมกำลังทั้งหมดที่เลนส์มีออกมาได้นั้น บอดี้ที่เลือกใช้คงต้องเป็น Sigma SD Quattro H ที่เป็นกล้องของ Sigma เอง และประจวบเหมาะที่ผู้สอนได้ใช้กล้องพร้อมๆกับเลนส์ดังกล่าวนี้พอดี


50mm คือทางยาวเลนส์เอนกประสงค์
ให้ทั้งความเป็นธรรมชาติ และระยะชัดที่น่าหลงไหลในคราวเดียวกัน

คุณสมบัติที่ระดับแถวหน้าในขนาดที่สามารถพกพาได้
1 ในเลนส์แม่ทัพอนุกรม Art ที่ Sigma นำเสนอเป็นกลุ่มแรก

รูรับแสงที่กว้างมาก

ในยุคที่ค่ายกล้องต่างเริ่มนำเสนอกล้องที่มีจำนวนเม็ดพิกเซลสูงๆนั้นย่อมต้องอาศัยเลนส์ที่มีคุณภาพสูงตามไปด้วย และ Sigma เองก็ได้ขนกองทัพเลนส์เกรดพรีเมี่ยมออกมาในกลุ่มๆแรกอย่าง 50mm โดยที่ให้รูรับแสงกว้างสุดมามากถึง f/1.4 และนับเป็น 50mm f/1.4 ตัวแรกที่ผลิตมาเพื่อรองรับกล้องถ่ายภาพดิจิตอลยุคใหม่มาตรฐานที่ 36 ล้านพิกเซลไปจนถึง 50 ล้านพิกเซล ด้วยเลขโค้ดสลัก ‘014’ หมายถึงจำนวนปีที่ Sigma เคยผลิตเลนส์ในระยะนั้นๆออกมา

ทางยาวโฟกัสเอนกประสงค์

50 มิลลิเมตร จัดเป็นทางยาวโฟกัสที่ผู้สอนถนัดเป็นอย่างมากเนื่องจากเป็นระยะที่ใกล้เคียงสายตามนุษย์และมีความผิดเพี้ยนของขอบน้อย เมื่อประกบเข้ากับ Sigma SD Quattro H ซึ่งเป็นเซ็นเซอร์ขนาด APS-H ตัวคูณ 1.3 จะได้ระยะเทียบเท่า 65 มิลลิเมตรบนเซ็นเซอร์ขนาด Fullframe เลนส์ระยะดังกล่าวนี้ถือเป็นเลนส์ระยะเริ่มต้นที่ดีสำหรับการเริ่มถ่ายภาพทุกประเภท ให้ระยะชัดที่ทิ้งฉากหลังได้งดงามพอสมควรอีกทั้งไม่ต้องถอยหลังไกลมากจนเกินไปนัก

ภาพระยะกลางงานถนัดของทางยาวโฟกัสนี้
1/2000sec | f/1.4 | ISO100
Sigma SD Quattro H + Sigma 50mm f/1.4 DG HSM Art

ระยะไกลกับโครงสร้างที่ไม่เพี้ยน
1/1600sec | f/1.4 | ISO100
Sigma SD Quattro H + Sigma 50mm f/1.4 DG HSM Art

ระยะใกล้ก็ยอดเยี่ยมมาก
1/160sec | f/4 | ISO100
Sigma SD Quattro H + Sigma 50mm f/1.4 DG HSM Art


เรียบง่าย, สุขุม และหนักแน่น
เน้นที่ประโยชน์ใช้สอยและใช้งานได้ง่ายที่สุด

คำนึงถึงการใช้งานของช่างภาพเป็นหลักโดยตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไป
เน้นที่ประสิทธิภาพและการใช้งานได้จริง

การออกแบบที่สะท้อนถึงความเป็นญี่ปุ่นโดยสายเลือด

ถ้าหากสังเกตเลนส์ของ Sigma ไม่ว่ากี่รุ่นหรือซีรี่ย์ไหนก็ตาม คนที่เห็นครั้งแรกมักจะรู้สึกว่า Sigma ช่างออกแบบได้ทื่อและตรงไปตรงมาเหลือเกิน เพราะด้วยสีดำเคลือบอะโนไดซ์แบบไม่หลุดลอกง่าย อย่างตัว Sigma 50mm f/1.4 DG HSM Art ตัวนี้มีเพียงสิ่งเดียวที่ปรับได้คือระบบออโต้โฟกัสและหมุนมือ ชิ้นแก้วที่เคลือบมาอย่างเนี้ยบสุดๆ 100% ไม่พบจุดตำหนิ นอกจากนี้ก็เป็นเพียงช่องมองระยะโฟกัสเท่านั้น ไม่มีอะไรให้ปรับอีกเลยนอกจากตัวเลนส์ทรงกระบอกสีดำด้านที่ดูเรียบง่ายตัวนี้

เลนส์ของ Sigma ดูเข้ากันได้ดีที่สุดเมื่อประกบกับกล้องค่ายของตัวเอง

วัสดุที่ทนทานต่ออุณหภูมิ (Thermally Stable Composite)

การถ่ายภาพที่ผ่านมาเผชิญกับภาวะของน้ำทะเลที่กระเด็นใส่และฝุ่นรวมไปถึงละอองทรายเล็กๆน้อย อากาศเย็นในไทยไม่ค่อยเจอ เรียกว่าเจออากาศร้อนจัดจะดีกว่า ถ้าที่ตัวเลนส์ซึ่งเป็นโลหะผสมโพลีคาร์บอเนตที่ทนทานสภาวะดังกล่าวได้ดีใช้แล้วก็ไม่พบปัญหาแต่ประการใดถือว่าทำงานได้คงสภาพมาตรฐานตลอดอุณหภูมิ

ระยะใกล้สุดที่ 40 เซนติเมตร

ส่วนตัวก็พอใจกับระยะใกล้สุดที่ให้มาแต่ก็คงรู้ๆกันอยู่ว่าใจจริงใครก็อยากให้เลนส์ตัวเองโฟกัสใกล้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ในระบบ Sigma’s Floating System จะมีการเลื่อนตำแหน่งของเลนส์กลุ่มหลังโดยไม่ให้เกิดอาการคลาดสีและยังช่วยลดระยะโฟกัสใกล้สุดให้ใกล้เพิ่มเข้ามาได้นั้น ทำให้ได้ระยะใกล้สุดของทางยาวโฟกัส 50mm ที่ 40 เซ็นติเมตร ถือว่าใกล้มากและยังมีคุณภาพสูงสุดในทุกระยะโฟกัส

มอเตอร์ไฮเปอร์โซนิก (Hyper Sonic Motor – HSM)

ในโค้ด HSM ซึ่งหมายถึงระบบมอเตอร์ไฮเปอร์โซนิกนั้น เมื่อถึงเวลาทำงานตัวเลนส์จะโฟกัสด้วยความรวดเร็วและในขณะเดียวกันก็เงียบมาก อีกทั้งยังมีความแม่นยำ ยิ่งในเฟิร์มแวร์ตัวล่าสุดที่เปิดระบบแมนนวลโฟกัสเต็มรูปแบบซึ่งผู้ที่กำลังใช้งานในโหมดหาโฟกัสอัตโนมัติสามารถหมุนที่กระบอกเลนส์ต่อเพื่อเลื่อนจุดโฟกัสต่อได้ยิ่งเป็นอะไรที่น่าประทับใจมากขึ้นไปอีก

ไดอะแฟรมเป็นรูปวงกลม

ใบเบลดไดอะแฟรม 9 ใบนั้นมากพอที่จะช่วยสร้างโบเก้ลักษณะวงกลมเมื่อต้องถ่ายจุดกำเนิดแหล่งจุดเล็กๆที่อยู่ไกลออกไปนอกโฟกัส ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นโบเก้วงกลมสวยงาม ไม่เว้นแม้แต่แสงสะท้อนของดวงไฟยามค่ำคือหรือจุดกำเนิดแสงเล็กๆน้อยๆทั้งหมด

เบ้าสวมโลหะแข็งแรงทนทาน

เมาท์หรือตัวสลักสำหรับสวมเลนส์เข้ากับตัวกล้องนั้นเป็นโลหะเคลือบแข็งแรงทนทานเพราะการสวมเข้าออกบ่อยๆเวลาเปลี่ยนเลนส์นั้นวัสดุมักมีการเสียดสีอยู่เสมอ แถมยังมีความแม่นยำสูงในการประกบเพื่อลดช่องว่างซึ่งเป็นสาเหตุที่จะทำให้เลนส์เคลื่อนออกจากตัวกล้องจนเป็นความผิดพลาดได้


มาตรฐานที่เหนือกว่ามาตรฐาน
ประสิทธิภาพสูงสุดตั้งแต่รูรับแสงกว้างสุด

จากประสบการณ์ในการทำเลนส์ DSLR หลายปีที่ผ่านมาของ Sigma
ก่อให้เกิดอาการคลาดสีต่ำมากที่สุดตัวหนึ่งเท่าที่เคยมีมา

โบเก้กับรายละเอียดที่นุ่มนวลเมื่อรูรับแสงกว้างสุด

เมื่อใช้รูรับแสงที่ 1.4 ปกติเราจะคาดหวังกับเลนส์ไวแสงแค่ความไวแสงที่ได้รับกับการถ่ายภาพในที่มืด แต่ Sigma 50mm f/1.4 DG HSM Art นั้นมอบประสิทธิภาพสูงสุดให้ตั้งแต่ f แรกของเลนส์ มาพร้อมกับระยะชัดที่แยกออกจากการละลายหน้าหลังที่นุ่มนวล โบเก้ที่เกิดจากใบเบลด 9 ใบทำให้แสงที่หลุดนอกโฟกัสเป็นวงสวยงาม

ชิ้นแก้วพิเศษลดอาการคลาดสี

อาการคลาดหรือเหลื่อมสีใน Sigma 50mm f/1.4 DG HSR Art พบได้น้อยมากที่สุดตัวหนึ่งเท่าที่เคยใช้เลนส์มา สาเหตุเป็นเพราะชิ้นแก้วพิเศษ SLD (Special Low Dispersion) ที่มีไว้เพื่อแก้อาการดังกล่าวนี้ทั้งยังให้ภาพที่มีสีสันอิ่มตัวและความเปรียบต่างสูง

โบเก้เป็นวงกลมกระจายตัวด้านหลังสวยงาม
1/320sec | f/1.4 | ISO100
Sigma SD Quattro H + Sigma 50mm f/1.4 DG HSM Art

มีแค่ขอบม่วงที่แก้ได้ง่ายแม้ย้อนแสงอย่างรุนแรง
1/60sec | f/1.4 | ISO100
Sigma SD Quattro H + Sigma 50mm f/1.4 DG HSM Art

ไม่มีอาการวูบวาบของแสงเลยแม้แต่น้อย
1/40sec | f/1.4 | ISO100
Sigma SD Quattro H + Sigma 50mm f/1.4 DG HSM Art

โครงสร้างของเลนส์ Sigma 50mm f/1.4 DG HSM Art

สีดำในที่นี้จะหมายถึงกลุ่มชิ้นแก้วพิเศษ​ (SLD) ซึ่งมีไว้เพื่อแก้อาการคลาดสีหรือเหลื่อมสีที่ขอบภาพ มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 3 ชิ้น และ สีแดงแทนด้วย Aspherical Lens ซึ่งมีไว้เพื่อลดการสะท้อนแสงภายในตัวเลนส์ หรือที่เรียกว่าอาการโคม่า (Coma) 1 ชิ้น เรียกได้ว่าจัดให้แบบเต็มๆมากสำหรับ Sigma 50mm f/1.4 DG HSM Art


ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมถึงจัดอยู่ในระดับเลนส์ที่ดีที่สุดตัวหนึ่งในอนุกรม Art ของ Sigma

ความผิดเพี้ยนของภาพ (Distortion)

ความผิดเพี้ยนเลนส์เกิดจากการคลาดเคลื่อนของเลนส์ในทางออปติก มีได้สองกรณีคือถ้าภาพไม่สอบตัวเข้าก็จะบวมออกจากการทดสอบแล็ปของ Sigma แสดงให้เห็นความผิดเพี้ยนของภาพกับเลนส์ 50mm เป็นแบบสอบเข้า (Pincushion distortion) และผิดเพี้ยนน้อยมากกว่า 0.5% ดังนั้นจึงหมดกังวลได้เลยกับความเที่ยงตรงของเส้นสายในภาพ

ขอบมืด (Vignetting)

เมื่อเปิดรูรับแสงกว้างสุดขอบมืดที่เกิดขึ้นจากมุมทั้งสี่มุมของภาพมีค่อนข้างน้อยจนกระทั่งหรี่รูรับแสงลงมาเพียง 2.8 ก็เริ่มหายไปหมด อย่างไรก็ตามการใช้ f ที่ 1.4 นั้นก็ไม่ได้มีขอบดำมากมายอย่างที่คิดหรือว่าแก้ไขยากแต่อย่างใด ถ้าสังเกตจากกราฟของทาง Sigma-Global จะเห็นได้ว่าความสัมพันธ์ของแสงที่เข้ามาในเลนส์ระหว่างรูรับแสงต่างๆนั้น ที่รูรับแสงกว้างสุดปริมาณความเข้มแสงที่เข้าตั้งแต่กลางภาพจะลดลงไปจนถึงมุมภาพ และจะดีขึ้นเมื่อใช้รูรับแสงแคบลงมากขึ้นเรื่อยๆ

แกลเลอรี : Sigma 50mm f/1.4 DG HSM Art

ภาพจาก Sigma 50mm f/1.4 DG HSM Art บน Sigma SD Quattro H ให้รายละเอียดที่สวยงามน่าประทับใจ และรับมือได้กับทุกสถานการณ์ ทั้งหมดนี้จากทริปกระบี่เมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2560 จนถึงปัจจุบัน ถ้าหากว่ามีภาพน่าสนใจเพิ่มเติมจะนำมาจัดแสดงปรับปรุงอีกครั้ง

 

ความสุดยอดของ Sigma 50mm f/1.4 DG HSM Art เมื่อประกบเข้ากับเซ็นเซอร์พิเศษที่ให้รายละเอียดขั้นสูงสุดอย่าง Sigma SD Quattro H เป็นอะไรที่เข้าขากันมาก และในขณะนี้เซ็ตดังกล่าวก็เป็นขาประจำสำหรับผู้สอนไปเรียบร้อยแล้ว ด้วยราคาและคุณภาพคับแก้วดังที่ได้กล่าวมา คงยากที่จะไปถือกล้องอื่นจริงๆ

Reference images : www.sigma-global.com

บทความที่เกี่ยวข้องในหมวดนี้
ฝึกฝนนิสัยถ่ายภาพด้วยเลนส์ไพร์ม

สิ่งที่ได้จากการใช้เลนส์ทางยาวโฟกัสเดียวไปสักระยะจะส่งผลต่อช่างภาพมือใหม่เพื่อฝึกฝนความอดทนและทลายขีดจำกัดของเลนส์ตัวนั้นได้อย่างไร เราจะได้เจาะลึกถึงการเติบโตด้วยข้อจำกัดเหล่านี้กัน

วิธีทำให้ภาพถ่ายดิจิตอลเหมือนภาพถ่ายฟิล์มแบบ 100%

เรียนรู้วิธีการที่จะทำให้ระบบบันทึกภาพถ่ายแบบดิจิตอลออกมาเหมือนกับภาพถ่ายที่เกิดจากกล้องฟิล์มแบบ 100% ใช่..มันเป็นไปได้ ว่าแต่คุณพร้อมหรือเปล่าที่จะเลือกเส้นทางนี้?

ควรใช้เลนส์ตัวไหนดีระหว่าง Sigma 24mm f/1.4, f/2 หรือ f/3.5?

มีคนสอบถามเข้ามาทางข้อความอยู่เรื่อยๆเกี่ยวกับเลนส์ Sigma ทางยาวโฟกัส 24mm ว่าทำมาทำไมตั้ง 3 ตัว แล้วจะเลือกซื้อยังไง? บทความนี้จึงจะอธิบายและคลายข้อสงสัยในการเลือกซื้อครับ

ร้านค้าออนไลน์ภายใต้ชื่อผู้ก่อตั้ง ‘Dozzo Flamenco’ ที่นี่จะมีผลิตภัณฑ์สื่อการสอนและเทรนนิ่งคลาสระดับคุณภาพเท่านั้น

บทความล่าสุด >>
เกรนกับความคมชัดของภาพถ่าย

ถ้าเพิ่มเกรนน้อยเกินไปภาพก็ดูเหมือนจะไม่มีความแตกต่าง แต่ถ้าใส่มากเกินไปภาพก็แข็งกระด้าง ดังนั้นควรมีเกรนในปริมาณเท่าใดในภาพจึงจะช่วยให้ภาพดูดีขึ้น และใช่ เรากำลังพูดถึงเกรนในมุมที่เกี่ยวข้องกับความคมชัดของภาพถ่ายครับ

การใช้งานคู่สีตรงข้าม

เรื่องของคู่สีรายล้อมรอบตัวเราอยู่ตลอดเวลา และ ‘คู่สีตรงข้าม’ (Complementary Colors) ก็จัดว่าเป็นการเข้าคู่ที่รุนแรงและทรงพลังอย่างมาก หากจะหยิบมาเพื่อใช้งานต้องเรียนรู้และเข้าใจวิธีหลีกเลี่ยงผลลัพธ์เชิงลบบางประการจึงจะเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลวส่วนบบุคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า