มักมีคนกล่าวว่า ‘เมื่อไหร่ที่คุณเริ่มคิดถึงอดีต.. แสดงว่าคุณเริ่มแก่แล้ว’ คำกล่าวนี้เหมือนจะติดตลกอยู่นิดๆ แต่ถ้าเป็นเราเองก็คงไม่สนว่าใครจะคิดอย่างไรหากมันเป็นอดีตที่มีความสุขและปัจจุบันก็ไม่ได้ใกล้เคียงคำเหล่านั้นสักเท่าไหร่นัก
ยุคของกล้องฟิล์มนั้นเต็มไปด้วยความไม่สมบูรณ์แบบหลายๆอย่าง ตั้งแต่การบรรจงตั้งค่าเพื่อกดชัตเตอร์ในช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดอย่างอดทน ไปจนถึงเฝ้ารอภาพที่ถ่ายจากร้านรับล้างอัดอย่างมีความหวังว่าจะออกมาเป็นเช่นใด
ความลำบากกลายเป็นความทรงจำที่มีคุณค่ายิ่งในชีวิตของช่างภาพยุคนั้น
ภาพถ่ายจากกล้องฟิล์มด้วย Kodak Portra 400 | ที่มา https://www.lomography.com/films/871910984-kodak-portra-400/
เรื่องของรายละเอียดและสีสันที่เป็นเอกลักษณ์ ได้ถูกฝังและบันทึกประวัติศาสตร์เอาไว้อย่างคลาสสิกข้ามกาลเวลา จนเป็นภาพจำว่าภาพแบบนี้สีแบบนี้คือความเก่าแก่ และมีคุณค่า
เมื่อเข้าสุ่ยุคดิจิตอล ยุคที่เต็มไปด้วยความสมบูรณ์แบบในหลายๆอย่างที่ฟิล์มไม่สามารถทำได้อย่างง่ายๆ กลายเป็นว่าความง่ายได้ทำลายเสน่ห์หลายๆอย่างลงไป และก็มีกลุ่มคนไม่น้อยที่อยากชุบชีวิตสิ่งเหล่านั้นให้เกิดขึ้นอีกครั้ง
บทความนี้ คือเนื้อหาทางเทคนิคที่ทำให้ภาพถ่ายดิจิตอลเหมือนภาพถ่ายฟิล์มมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ว่าเราควรทำอย่างไรหากอยากให้ภาพถ่ายดิจิตอลเหมือนภาพถ่ายฟิล์ม ตั้งแต่ประเภทของเซ็นเซอร์รูปภาพ ไปจนถึงหลักคิดในการตกแต่งภาพถ่าย
กล้องดิจิตอลในปัจจุบันมากกว่า 90% ของท้องตลาดใช้เซ็นเซอร์รูปภาพแบบเบเยอร์ (Bayer Sensor) ซึ่งมีความบกพร่องในการเก็บรายละเอียดแม้ว่าปัจจุบันจะมีหน่วยประมวลผลและปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วยคาดเดาสิ่งที่ควรมีในภาพ รวมไปถึงการเพิ่มขนาดเพื่อครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น เทียบกับฟิล์มซึ่งเป็นการเก็บค่าความถูกต้องแบบ 100% ในทุกๆจุด ไม่ว่าใครก็เดาได้ไม่ยากว่ารายละเอียดในภาพจะต้องไม่เหมือนกัน
เซ็นเซอร์รูปภาพแบบเบเยอร์ : ความถูกต้องน้อยจึงใช้ AI คำนวนเพิ่มเติมเพื่อความแม่นยำ
แล้วกล้องในท้องตลาดมีตัวใดที่มีหลักการบันทึกภาพเดียวกันกับฟิล์ม?
คำตอบคือ กล้องที่ใช้เซ็นเซอร์แบบโฟวิยง และต้องเป็นโฟวิยงแบบ 100% นั่นคือ Sigma SD1 Merrill และซีรี่ย์ DP Merrill ได้แก่ Sigma DP1–2–3 Merrill มีเพียง 4 ตัว (SD15 เก่าเกินไปหาซื้อยากมากๆแล้ว)
กล้องซีรี่ย์ Merrill จาก Sigma เซ็นเซอร์โฟวิยงเต็มรูปแบบที่ยังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบันแต่ก็น้อยมากแล้ว (เลิกผลิตแล้วทุกตัว)
สิ่งที่เหมือนกันระหว่างเซ็นเซอร์ประเภทนี้กับฟิล์ม เป็นการรับแสงแบบถูกต้อง 100% ทุกจุดในเฟรมภาพ ดังนั้นมันจึงตัดเรื่องของหน่วยประมวลผลเพื่อทดแทนความบกพร่องพิกเซลที่ขาดหายไปได้อย่างสมบูรณ์ ง่ายๆคือรับรายละเอียดได้ถูกทุกจุดแล้ว AI ก็เลยไม่จำเป็นครับ
ตรงนี้อาจจะยากสำหรับผู้ที่ไม่ได้ทำงานเกี่ยวกับการแต่งภาพหรือออกแบบสเกลโดยตรง แต่ขอให้เข้าใจง่ายๆว่าการบันทึกภาพแบบดิจิตอล เป็นไปเพื่อเก็บรายละเอียดให้ได้สูงสุดและคุณภาพดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้สำหรับไฟล์ภาพต้นฉบับ เพราะการแต่งภาพ (หมายถึงการแต่งภาพให้เหมือนฟิล์ม) จะเป็นการยืดข้อมูลและตัดทอนให้เสียหายในระหว่างกระบวนการ ถ้าภาพต้นฉบับมีคุณภาพสูงก็สามารถทำได้ง่ายกว่าภาพที่บันทึกมาไม่ดีตั้งแต่ต้น
กล้องดิจิตอลที่มีแนวคิดเดียวกับกล้องฟิล์ม และกระบวนการทำภาพแบบฟิล์ม เมื่อสั่งพิมพ์ออกมาแล้วดูใกล้ๆแยกแทบไม่ออกเลยว่าต่างกันอย่างไร
นี่จึงเป็น 2 วิธีการหลักที่ทำให้ได้ภาพถ่ายที่เหมือนฟิล์มจริงๆ หลายท่านคงมองว่าแล้วถ้าไม่ได้ใช้กล้องดังกล่าวข้างต้นก็ไม่มีทางเหมือนเลย คำตอบคือไม่จำเป็นต้องใช้กล้องตามที่แนะนำครับ ใช้กล้องที่เราถนัดมากที่สุดนั่นแหล่ะ เพราะบทความนี้กล่าวถึงการให้ได้มาซึ่งภาพแบบฟิล์ม 100% ก็เลยต้องกำหนดขอบเขตอุปกรณ์และวิธีการให้ได้มากที่สุด