ค่าความไวแสง หรือ ISO หมายถึง ความอ่อนไหวต่อการสัมผัสแสงของเซ็นเซอร์รับภาพดิจิตอล ถ้ามีค่าความไวแสงมากเซ็นเซอร์จะถูกกระตุ้นให้รับแสงแล้วประมวลผลออกมาเป็นภาพได้เร็ว แต่ถ้าค่าความไวน้อยเซ็นเซอร์ก็จะใช้เวลามากกว่าปกติ
ความไวแสง (International Organization for Standardization)
ยกตัวอย่าง เช่น เมื่อเรายืนอยู่กลางแจ้ง ปริมาณของแสงนั้นมีมากจึงต้องใช้ ISO น้อยๆ แต่ถ้าอยู่ในที่มืดมากก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเพิ่ม ISO
ไฟล์ภาพจะมีคุณภาพดีที่สุดเมื่อค่า ISO ต่ำสุด
(FujiFilm FinePix X-Pro1 + Carl Zeiss Touit Planar 32mm f/1.8)
เมื่อรู้อย่างนี้แล้วทำไมไม่ใช้ค่า ISO สูงๆไว้ตลอดล่ะ? ..สิ่งหนึ่งที่ควรพึงระวังจากการกระตุ้นให้เซ็นเซอร์ทำงานมากกว่าปกติเนื่องจากการเพิ่มค่า ISO นั้นทำให้เซ็นเซอร์ประมวลผลได้ไม่ราบรื่นเท่าที่ควรจะเป็น นั่นคือสิ่งที่เรียกว่า “คลื่นสัญญาณรบกวน” (Noise)
ผลจากการเพิ่ม ISO มากเกินไป พบว่าแทบนำภาพไปใช้อะไรไม่ได้เลย
(FujiFilm FinePix X-Pro1 + Carl Zeiss Touit Planar 32mm f/1.8)
อธิบายเพิ่มเติม : คลื่นสัญญาณรบกวนนั้นเกิดมาพร้อมๆกับยุคดิจิตอลที่เราต่างพึ่งพาอุปกรณ์ที่ใช้ไฟฟ้าเป็นตัวขับเคลื่อน ทำให้ได้รับผลลัพธ์จากอุปกรณ์ชิ้นนั้นแย่ลง สาเหตุแบ่งเป็นสองพวกใหญ่ๆ ได้แก่สัญญาณรบกวนที่มนุษย์เป็นสาเหตุ และไม่ได้เป็นสาเหตุ เช่น ความเร็วของอินเตอร์เน็ตที่ลดลงตามระยะทาง, เสียงของไมโครโฟนคุณภาพต่ำที่ถูกแทรกด้วยสัญญาณแปลกๆ
ถ้าเป็นกรณีภาพถ่ายจะมีเม็ดสีแปลกๆเกิดขึ้นในภาพ ทำให้ภาพขาดรายละเอียดนั่นเอง
รูรับแสง (Aperture) หมายถึง ขนาดของช่องที่แสงจะวิ่งผ่านจากเลนส์ไปยังเซ็นเซอร์ ควบคุมได้ด้วยวงแหวนปรับรูรับแสงของเลนส์ นอกจากนี้รูรับแสงยังใช้กำหนดระยะความคมชัดของโฟกัสได้ด้วยนะ มีผลต่อการละลายฉากหลังอีกด้วย
รูรับแสง – Aperture
ขนาดของรูรับแสงแปรผกผันตามตัวเลข หรือที่เรียกว่า F-Stop ถ้าตัวเลข F-Stop มีค่ามากรูรับแสงจะมีขนาดเล็กแสงผ่านเข้าได้น้อย แต่ถ้าตัวเลขมีค่าน้อยรูรับแสงจะมีขนาดใหญ่แสงผ่านเข้าได้มาก
เวลาที่เราพูดกันถึงเลนส์รุ่นนั้นรุ่นนี้มักจะพูดถึงความกว้างสูงสุดของรูรับแสงติดเอาไว้ด้วย เช่น เลนส์ Sigma 35mm f/1.2 DG DN (Art) ของ Sigma หมายความว่า เลนส์ตัวนี้มีทางยาวโฟกัส 35มม ค่ารูรับแสงกว้างสุดที่ทำได้คือ 1.2
เปิดรูรับแสงกว้างช่วยให้ละลายฉากหลังได้ดี
(FujiFilm FinePix X-Pro1 + Carl Zeiss Jena Pancolar 50mm f/1.8)
ภาพถ่ายภูมิทัศน์มักใช้รูรับแสงแคบๆเพื่อเก็บรายละเอียดทั้งหมด
(FujiFilm FinePix X-Pro1 + Samyang 12mm f/2.0 NCS CS)
ความเร็วชัตเตอร์ (Shutter Speed) หมายถึง ระยะเวลาที่แสงวิ่งเข้าไปบรรจุสู่เซ็นเซอร์รับภาพดิจิตอลแล้วม่านชัตเตอร์ปิดตัวลงพอดี ในโหมดแมนนวลของกล้องดิจิตอลหรือโหมด Shutter Priority กล้องจะอนุญาตให้เราปรับค่านี้ได้อย่างอิสระ
ความเร็วชัตเตอร์ – Shutter Speed
ค่าความเร็วชัตเตอร์นอกจากจะช่วยเพิ่มหรือลดเวลาการรับแสงของภาพ ยังช่วยในการหยุดสิ่งที่เคลื่อนไหวเร็วให้นิ่งอยู่กับที่ (ด้วยการจับภาพที่รวดเร็วกว่า) หรือ ทำให้ภาพเกิดการเคลื่อนไหวแบบเส้นสายด้วยการใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่นานขึ้นได้ด้วย
ความเร็วชัตเตอร์ 1/240 วินาที เร็วพอที่จะหยุดความเคลื่อนไหวในการถ่ายภาพกีฬาได้
(FujiFilm FinePix X-E1 + Leica Summilux 50mm f/1.4)
ความเร็วชัตเตอร์มีหน่วยเป็นวินาที (Second) เช่น 1/300 วินาที หมายความว่าให้เอา 300 หาร 1 = 0.003 วินาที เป็นเวลาที่แสงเข้าสู่เซ็นเซอร์แล้วปิดตัวลงประมวลผล ซึ่งเร็วมากพอที่จะจับการเคลื่อนไหวแบบทั่วไปได้ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับทางยาวโฟกัสของเลนส์และความสั่นไหวของตัวผู้ถือมาลดทอนออกไป
ความเร็วชัตเตอร์ที่ 30 วินาทีพร้อมขาตั้ง สำหรับการลากแสงให้ยาวเป็นทางเพื่อแสดงการเคลื่อนไหว
(FujiFilm FinePix X-Pro1 + Carl Zeiss Touit Planar 32mm f/1.8)
ความเร็วชัตเตอร์ที่นาน 1 วินาที จะมีสัญลักษณ์ฟันหนูกำกับไว้ เช่น 30 วินาที จะเขียนว่า 30″
ความเร็วชัตเตอร์ที่ต่ำกว่าทางยาวเลนส์มากๆมีโอกาสสูงที่ภาพถ่ายออกมาจะเบลอ เช่นความเร็วชัตเตอร์ที่ 1/15 วินาที ของเลนส์ทางยาวโฟกัส 35mm วิธีแก้ไขปัญหาภาพเบลอนั้นก็มีอยู่หลายวิธี เช่น การใช้ขาตั้งกล้องแทนที่จะถือถ่ายเอง
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่ามีตัวแปรหลัก 3 ตัวที่ส่งผลถึงปริมาณแสงที่ได้รับในระบบของกล้องถ่ายภาพดิจิตอลซึ่งได้แก่ ค่าความไวแสง (ISO), ขนาดของรูรับแสง (Aperture) และ ความเร็วชัตเตอร์ (Shutter) สามปัจจัยนี้ส่งผลให้ภาพที่ได้สว่างขึ้นหรือมืดลงได้เหมือนๆกัน ผู้ใช้จึงควรเข้าใจถึงความสัมพันธ์เพื่อที่จะเลือกใช้ค่าของตัวแปรต่างๆได้อย่างถูกต้องนั่นเอง
ความสัมพันธ์ 3 ปัจจัยในการรับแสง (The Exposure Triangle)