ตรงนี้คุณคงไม่ต้องไปศึกษาย้อนหลังมากขนาดเรียนรู้ประวัติรากที่มาหากไม่ได้ลงเรียนหลักสูตร ‘ศิลปะแห่งการจัดองค์ประกอบภาพถ่าย’ (The Art of Composition) ซึ่งเป็นหลักสูตรปกปิดของ DozzDIY ขอให้จำง่ายๆแค่ว่า กฏสามส่วนนี้เกิดขึ้นมาได้เพราะความขี้เบื่อ, ความไม่พอใจในสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ และความทะยานอยากของมนุษย์ สิ่งนี้เองจึงทำให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆที่พอให้แก้เหงาหรือคลายความเบื่อลงได้บ้าง แต่ก่อนจะหายเบื่อก็มาดูการจัดองค์ประกอบกลางภาพให้ชินตากันก่อน
การจัดองค์ประกอบภาพถ่ายแบบวางจุดสนใจไว้ตรงกลางเป็นรูปแบบที่ค่อนข้างมาตรฐานและตายตัว (Static) มันใช้ได้ดีกับภาพหลายๆแบบซึ่งบ่อยครั้งก็อาจจะไม่ได้เกิดความเป็นไดนามิกของน้ำหนักและมิติมากนักเพราะเรามีข้อจำกัดกับพื้นที่ส่วนที่เหลือทำให้เล่นได้อย่างไม่เต็มที่อย่างที่บอกนั่นล่ะครับ
กฏสามส่วน มีลักษณะเป็นเส้นตรงแนวตั้ง หรือเส้นตรงแนวนอนสองเส้นซึ่งเว้นระยะประมาณ 33.33% อย่างพอดี วิธีการใช้งานก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไรมาก แค่แบ่งพื้นที่การใช้งานของสิ่งต่างๆที่มีในภาพให้เป็นไปตามเส้นแกนเท่านั้นโดยรักษาความเท่ากันอาจจะด้วยแบบไม่เท่ากันก็ได้ (ดุลยภาพแบบอสมมาตร – Asymmetrical Balance)
กฏสามส่วนแบบแกนตั้งและแกนนอน
จริงอยู่ที่เหตุผลประการหนึ่งของกฏสามส่วนมีมาเพื่อแก้เบื่อการจัดองค์ประกอบไว้ตรงกลาง แต่ผู้ใช้งานมันจะต้องมีความพิถีพิถันในการเลือกวางและรักษาดุลยภาพเพิ่มเติมเพื่อไม่ให้รู้สึกว่าภาพหนักไปทางใดทางหนึ่งมากจนเกินไป ดังนั้นเรื่องของขนาด, การเปรียบเทียบ, ความแปลกแยก, ทิศทาง และคุณสมบัติทางด้านกายภาพอีกมากมายของวัตถุก็จำเป็นต้องเอามาคิดด้วย
ในภาพๆหนึ่งอาจประกอบด้วยกฏที่ซ้อนทับตั้งแต่ 2 กฏขึ้นไปได้ แต่ในตอนนี้ถ้าคุณไม่ทราบกฏอะไรมาก่อนเลยนอกจากกฏดังกล่าวขอให้พยายามทำความเข้าใจจากภาพที่เห็นโดยมโนภาพว่ามีแกนแบ่งอยู่ในเฟรมตลอดเวลา พิจารณาว่าทำไมผู้สอนจึงนำตัวอย่างเหล่านี้มาให้ชม มันเป็นภาพที่ดีอย่างไรให้คิดตามไปด้วย ก่อนที่จะเข้าสู่การเรียนโครงสร้างอื่นๆต่อไปครับ