เครื่องมือระบายภาพนั้นผู้สอนเห็นว่ามีเนื้อหาสาระที่เยอะและค่อนข้างละเอียดเนื่องจากว่าไม่ได้หมายถึงพู่กัน (Brush Tool) เพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงเครื่องมือที่มีการใช้งานในลักษณะระบายที่เกี่ยวข้องค่อนข้างมาก บทเรียนนี้จึงต้องกล่าวความหมายให้ครอบคลุมแบบคร่าวๆเพื่อทำความเข้าภาพรวมของการทำงานไว้ก่อน
เครื่องมือสำหรับการระบาย (Painting Tools)
เครื่องมือที่ใช้ในการระบายภาพนั้นนอกจากจะใช้วาดแล้วยังใช้ลงสีในลักษณะการปาดไปปาดมา เครื่องมือสำหรับระบายภาพใน Photoshop CC ปัจจุบันมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 9 เครื่องมือ ซึ่งผู้สอนขอยกตัวอย่างการใช้งานอย่างคร่าวๆเป็นแกลเลอรีมาพอสังเขปดังนี้ครับ
แม่แบบของเครื่องมือระบายภาพ
คุณสมบัติของเครื่องมือสำหรับการระบายช่วยให้ผู้เรียนสามารถสร้างเอฟเฟกให้กับภาพในแบบที่แปลกตาออกไปได้อย่างมากมาย และ Photoshop ก็อนุญาตให้ปรับแต่งเครื่องมือระบายภาพได้ทันทีในส่วนของบาร์ตัวเลือก (Option Bar) เมื่อเครื่องมือระบายภาพถูกเรียกใช้งานอีกทั้งมันยังสามารถบันทึกเอาไว้เป็นแม่แบบสำหรับเรียกใช้งานในครั้งต่อๆไปได้อีกด้วย แม่แบบของเครื่องมือระบายภาพนี้จะสร้างขึ้นใช้เองหรือดาวน์โหลดตามเว็บที่ทำขายหรือทำแจกฟรีก็ตามสะดวก >> คลิกเพื่อไปยัง วิธีการสร้างและใช้แม่แบบเครื่องมือ
ตัวเลือกลูกเล่นเพิ่มเติมของเครื่องมือระบายภาพ
ในระหว่างที่ตั้งค่าเบื้องต้นที่บาร์ตัวเลือกของเครื่องมือระบายภาพ เรายังสามารถกำหนดคุณลักษณะเพิ่มเติมได้อีกด้วยว่าจะให้แม่แบบเครื่องมือระบายภาพนี้มีการไล่สีแบบไหน, ขอบของการระบายนุ่มหรือแข็งกระด้าง, ความหนักเบาไม่เท่ากัน, มีการผสานเข้ากันกับพื้นที่ซ้อนทับ หรือจะใส่พื้นผิวเข้าไป ทั้งหมดนี้ทำได้ในส่วนของพาเนลเครื่องมือระบายภาพ คลิกที่ข้อความเพื่อไปยังตอน “การปรับแต่งพาเนลเครื่องมือระบายภาพ” (ลิงก์ยังไม่เปิดใช้งาน)
บาร์ตัวเลือก (Options Bar) ของกลุ่มเครื่องมือประเภทพู่กัน (Brush Tools – B)
การใช้งานเครื่องมือพู่กันและดินสอมีการใช้งานที่คล้ายกัน
1 กำหนดสีเส้นขอบ (Foreground Color) ที่จะระบาย
2 เลือกเครื่องมือสำหรับการระบายอย่างใดอย่างหนึ่ง (พู่กันหรือดินสอก็ได้)
3 เลือกประเภทหัวแปรงจากกล่องแม่แบบเครื่องมือระบาย
4 กำหนดโหมดสำหรับการระบายหรือตัวเลือกต่างๆที่บาร์ตัวเลือกจนพอใจ
5 จากนั้นจึงเลือกทำอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้
– คลิกลากไปตามพื้นที่การทำงานเพื่อระบาย
– ถ้าจะลากเป็นเส้นตรง ให้กำหนดจุดลากแล้วกด Shift ค้างไว้ จากนั้นลากไปยังจุดปลายที่ต้องการแล้วค่อยปล่อยปุ่ม
– หากต้องการใช้งานในลักษณะของแปรงพ่นสี ให้คลิกเป็นจุดๆเดียวค้างโดยไม่ต้องลากแล้วสังเกตผลดู
ตัวเลือกเครื่องมือระบายภาพ
ตัวเลือกดังกล่าวนี้มีให้ตั้งค่าที่บาร์ตัวเลือก (Options Bar) ซึ่งจะส่งผลไปยังเครื่องมือที่มีการใช้งานในลักษณะเดียวกันนี้ด้วย
โหมด (Mode) : โหมดการระบายภาพจะข้องเกี่ยวกับความรู้เรื่องการผสานเลเยอร์ในหมวดที่ 9 ของหลักสูตร Photoshop CC for Photographer ซึ่งเป็นความจำเป็นอย่างมากไม่ว่าผู้เรียนจะใช้ Photoshop ไปเพื่ออะไรก็ตาม อย่างไรก็ดีถ้ายังใช้ไม่เป็นก็ให้เลือกโหมด Normal ไปก่อน หรือจะลองเปลี่ยนโหมดเล่นๆแล้วดูเอฟเฟกที่เกิดขึ้นขณะระบายก็ได้ครับ
ความโปร่งใส (Opacity) : ค่าความโปร่งใส กำหนดให้ 0 คือความโปร่งใสสูงสุด และ 100 คือค่าความทึบของสีสูงสุด โดยที่การระบายลงในพื้นที่สีขาวจะแปรผลไปตามเอฟเฟกตัวเลขที่กำหนด สมมติว่ากำหนดไว้ 50 ค่าความโปร่งใส่ของสีจะมีเพียงครึ่งหนึ่ง ซึ่งถ้าหากระบายซ้ำในพื้นที่เดิม ความทึบที่ได้จะเป็นอีก 50% ของสีเดิมที่ทาทับลงไปก่อนหน้า (ไม่ใช่ 100% นะ)
การพ่นกระจาย (Flow) : อัตราการพ่นกระจายของเอฟเฟกที่กำหนด ค่านี้จะส่งผลในขณะที่ใช้งานเครื่องมือการระบายโดยไปลดผลความเข้มทึบ (มีผลสัมพันธ์กับค่า Opacity ด้วยควรแยกให้ออก) ของสีระหว่างการลากระบาย เช่น ที่สีเดียวกันซึ่งมีค่า Opacity เดียวกัน ค่า Flow ที่ต่ำกว่าจะมีการกระจายตัวของสีจากจุดศูนย์กลางเส้นระบายที่จางตัวมากกว่า
เพิ่มเติม : การกำหนดค่าความโปร่งใส (Opacity) อย่างรวดเร็วทำได้โดยการกดแป้นตัวเลขที่คีย์บอร์ด โดยที่การกดตัวเลขเพียงครั้งเดียว ความโปร่งใสจะมีค่าเป็น 10 เท่า เช่น กด 1 จะได้ค่าความโปร่งใส 10% (กด 0 ได้ 100% นะ) แต่ถ้ากดต่อเนื่องด้วยตัวเลขอีกครั้ง จะได้ค่าความโปร่งใส่หลักหน่วยตามมา เช่น การกด 1 แล้วตามด้วย 2 จะได้ค่าความโปร่งใสเท่ากับ 12% เป็นต้น
แปรงพ่น (Airbrush) : จำลองการระบายให้เป็นเหมือนแปรงพ่นสี การกดลงบนปุ่มดังกล่าวเป็นเหมือนการ เปิด-ปิดโหมด โดยที่เมื่อเปิดโหมดดังกล่าว การกดเมาส์ค้างเอาไว้สีจะกระจายตัวเหมือนกำลังทำการพ่น
โหมดลบอัตโนมัติ (Auto-Erase) : โหมดนี้ใช้ได้เฉพาะดินสอเท่านั้น โดยที่หากมีการทาทับไปยังสี Foreground สีดังกล่าวจะถูกลบแล้วแทนที่ด้วยสี Background แบบอัตโนมัติ
แรงกดของปากกาแสง (Tablet Pressure Button) : เป็นการเปิดให้ปรับน้ำหนักตามแรงกดของปากกาแสง หรือพวกสไตลัส
การปรับแต่งแก้ไขเคอร์เซอร์
ปกติแล้วรูปลักษณ์ของลูกศรตอนใช้เครื่องมือพู่กันใน Photoshop CC ก็มีการแสดงความหมายที่ดีอยู่แล้ว แต่ถ้าผู้เรียนรู้สึกหงุดหงิดหรือสังเกตยากว่าตัวเองกำลังใช้เครื่องมืออะไรอยู่ ด้านล่างนี้คือวิธีการเปลี่ยนเครื่องมือให้เป็นแบบที่ตัวเองชอบครับ
Preference ส่วนของเคอร์เซอร์