บทความนี้เรากำลังพูดถึงวัตถุประสงค์ในการ ‘บันทึกภาพเพื่อนำไปตกแต่งแก้ไขในโปรแกรม’ ซึ่งแตกต่างจาก ‘การบันทึกแล้วนำไปใช้ในทันที’ (การพรีวิวภาพถ่ายหลังจบงานกรณีลูกค้าใจร้อนหรืออยากได้ภาพเร็ว) เพราะไฟล์ภาพสำหรับการแก้ไขต้องมีข้อมูลดิจิตอลจำนวนมากพร้อมสำหรับการตกแต่ง, วัตถุประสงค์ของการบันทึกที่เจาะจง และอื่นๆอีกมากมาย
เงื่อนไขการบันทึกภาพให้ได้มาซึ่งไฟล์ภาพต้นฉบับคุณภาพสูงอธิบายได้ดังต่อไปนี้
เกี่ยวข้องกับปริมาณแสงเบื้องต้นในภาพถ่ายต้นฉบับที่เอื้อต่อทิศทางการตกแต่งภาพถ่าย ยกตัวอย่าง เช่น การบันทึกภาพให้มืดลงเล็กน้อยเพราะคิดไว้ล่วงหน้าอยู่แล้วว่าจะต้องนำไปตกแต่งในแบบภาพถ่ายที่มืดลงย่อมดีกว่าการบันทึกมาในค่าปกติหรือสว่างเกินความจริงแล้วต้องยืดข้อมูลไฟล์ภาพมากขึ้นเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ
แสงภายในภาพเป็นตัวบ่งชี้ถึงคุณภาพโดยรวมของภาพถ่ายโดยตรง จริงอยู่ที่ว่า ‘แสงที่เหมาะสม’ อาจหมายถึงแสงที่ใกล้เคียงกับแสงที่เราอยากเห็นมากที่สุดในผลลัพธ์สุดท้ายของภาพ แต่ก็ต้องเข้าใจด้วยว่าธรรมชาติของการบันทึกภาพแบบดิจิตอลนั้นแสงแบบไหนเหมาะกับการดึงภาพหรือมีความยืดหยุ่นสูงกว่ากัน
หลักสูตร ‘หลักการถ่ายภาพพื้นฐาน’ ของ DozzDIY ได้กล่าวว่าค่าความไวแสงส่งผลกระทบ 2 กรณี ได้แก่ ความเร็วชัตเตอร์ที่เพิ่มขึ้น กับ คุณภาพของภาพถ่ายที่ลดลงเมื่อค่าดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น
แต่ ‘ค่าความไวแสงต่ำสุดที่เป็นไปได้ ‘ ไม่ใช่ค่าความไวแสงต่ำสุดที่กล้องทำได้ เช่น บันทึกภาพด้วยค่าความไวแสงที่ 50 หรือ 100 ตลอด (ซึ่งที่จริงแล้วกล้องมีประสิทธิภาพมากพอที่จะเพิ่มค่าความไวแสงขึ้นแบบไม่สูญเสียคุณภาพไปมาก) โดยไม่สนใจเนื้อหาว่าสาระสำคัญของภาพถ่าย ณ เวลานั้นคืออะไร มีวัตถุประสงค์ให้วัตถุในโฟกัสนิ่งสนิทหรือแสดงความเคลื่อนไหว ค่าที่ยอมรับได้จึงควรมีความสมดุลระหว่างคุณภาพและวัตุประสงค์ไปพร้อมๆกัน
คนเรามักไปให้ความสนใจกันแต่อุปกรณ์และเทคนิคในการบันทึกจนลืมไปว่ามากกว่าครึ่งของภาพถ่ายคือ ‘การเล่าเรื่องที่ดี’ เพราะการเล่าเรื่องเป็นสิ่งที่มนุษย์ใช้ถ่ายทอดกันไปมาอยู่ตลอดชีวิต ศิลปะในการสร้างความเข้าใจต่อสิ่งต่างๆจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนควรได้รับการศึกษาอย่างถูกต้องครบถ้วนด้วยหลักของเหตุและผล เรียบเรียงด้วยองค์ประกอบที่เรียบง่ายและสื่อสารได้ตรงจุด
ภาพถ่ายจะประสบความสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าผู้บันทึกต้องการบรรลุวัตถุประสงค์อะไร เช่น ความโศกเศร้า, ยินดี หรือความประทับใจในแง่มุมต่างๆเมื่อได้รับชมภาพ ภายใต้ขีดจำกัดการนำเสนอเนื้อหาใน 1 เฟรมภาพ คุณภาพของภาพถ่ายเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ทำให้เรื่องราวเหล่านั้นมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น