ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้นทุกวันทำให้แม้แต่โทรศัพท์มือถืออย่างสมาร์ทโฟนก็สามารถถ่ายภาพได้คมชัด ทั้งยังมีความละเอียดสูงเมื่อเทียบกับกล้องถ่ายภาพดิจิตอลคอมแพคเมื่อหลายปีก่อน การรู้ความเป็นไปของตลาดกล้องถ่ายภาพดิจิตอลรวมทั้งความเหมาะสมต่อการใช้งานของกล้องแต่ละประเภทจะช่วยให้เราเลือกกล้องได้อย่างเหมาะสม
บทความนี้จะเริ่มจากการแนะนำกล้องถ่ายภาพดิจิตอลในแต่ละประเภทให้คุณได้ทำความรู้จักก่อนเป็นอย่างแรก เพื่อที่จะได้รู้ว่ากล้องประเภทไหนกันแน่ที่ใช่สำหรับคุณ จากนั้นจะต่อด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับความเป็นไปของตลาดกล้องในอนาคตซึ่งจะจริงหรือไม่จริงอันนี้ก็แล้วแต่วิจารณญาณนะครับ ปิดท้ายด้วยความเห็นส่วนตัวของทีมงานและผู้สอนจาก DozzDIY เกี่ยวกับกล้องที่ใช้ ว่าทำไมจึงเลือกใช้กล้องตัวนั้นตัวนี้แบบตรงไปตรงมาเพื่อเป็นข้อมูลเพิ่มเติมให้กับผู้ที่สนใจ
กล้องประเภทต่างๆที่จะถูกกล่าวถึงในบทความนี้
กล้องจากโทรศัพท์สมาร์ทโฟน (Smartphone Cameras)
ยุคนี้ไม่ว่าจะมองไปทางไหนใครๆต่างก็มีโทรศัพท์มือถือที่ถ่ายรูปได้กันทั้งนั้น และคุณสมบัติของกล้องถ่ายรูปที่เป็นอุปกรณ์อยู่ภายในโทรศัพท์มือถือในยุคนี้ก็ไม่ใช่เล่นๆนะครับ ได้คุณภาพที่ดีมากพอสมควรเลย เป็นก้าวแรกของใครหลายคนที่จะได้คุ้นเคยกับการเริ่มถ่ายรูปในตอนที่ไม่มีกล้องแบบจริงๆจังๆ แต่เมื่อเทียบกับกล้องอีกสามประเภทที่เหลือ คุณภาพก็ต่ำสุดอยู่ดีนะครับ แต่อนาคตอะไรก็ไม่แน่ทั้งนั้น
ความน่ากลัวของกล้องมือถือในปัจจุบันให้คุณได้ตั้งแต่กล้องที่มีจำนวนความละเอียดสูงๆอย่าง Nokia Lumia ที่มากถึง 41 ล้านพิกเซล เรียกว่าระดับโดรนถ่ายลงมายังพอเห็นรายละเอียดของรถยนต์ หรือจะเป็น Huawei P20 Pro ที่เซ็นเซอร์ใหล่มากขึ้น หรือกล้องหลายๆค่ายที่เปิดให้แก้ไขไฟล์ได้อย่างเต็มที่ในรูปแบบของ RAW ซึ่งบอกได้เลยว่ามาไกลกว่ากล้องมือถือเมื่อสามสี่ปีที่แล้วอย่างมาก
เดี๋ยวนี้มือถือถ่ายภาพได้ดีขึ้นมาก
ภาพจากกล้องมือถือ Oppo R7+
ภาพจาก iPhone 6S+
ภาพจาก iPhone 6S+
ข้อดี >>
– ไม่ค่อยมีใครคิดว่าเป็นภาระเพราะพกติดตัวกันแทบตลอดเวลา โอกาสได้ภาพจากการเข้าถึงแหล่งต่างๆเกือบ 100% ยกขึ้นถ่ายก็ไม่ค่อยมีใครสนใจ (บางทีเขาไม่นึกว่ากำลังถ่ายภาพด้วยซ้ำ)
– น้ำหนักเบาที่สุดในกล้องทุกประเภทที่กล่าวมาในบทความนี้
– ใช้โทรศัพท์และทำอย่างอื่นได้ด้วย แถมยังเชื่อมต่อกับเครือข่ายหรืออินเตอร์เน็ตได้ตลอดเวลา เหมาะกับการบันทึกภาพแบบทันท่วงที ทำให้ไวต่อเหตุการณ์ต่างๆมากที่สุดเรียกได้ว่าถ่ายแล้วนำไปใช้ได้ทันที
– แอพพลิเคชั่นสำหรับตกแต่งภาพมีความหลากหลาย รวดเร็วไม่ยุ่งยาก เช่น VSCO, Camera360 และ ฯลฯ
– กล้องหลายๆค่ายสามารถถ่ายเป็นไฟล์ RAW ที่มีความยืดหยุ่นในการแต่งภาพก่อนเซฟเป็น JPEG ได้แล้ว
ข้อเสีย >>
– เปลี่ยนเลนส์ไม่ได้ (แต่ก็พอจะมีอุปกรณ์เสริมช่วยได้บ้าง)
– แบตเตอร์รี่เท่าที่โทรศัพท์มือถือนั้นมี
– คุณภาพของไฟล์ภาพโดยรวมยังต่ำสุดเมื่อเทียบกับอีกสามประเภทที่เหลือ
– เลนส์ติดกล้องมักเป็นเลนส์มุมกว้าง
– ถ้าจะเอาแค่ความสามารถด้านการถ่ายภาพอย่างเดียวดูแล้วไม่น่าจะคุ้ม เพราะราคาโทรศัพท์มือถือดีๆราคาก็แทบจะเท่ากับกล้องถ่ายรูปดีๆ 1 ตัวแล้ว
เหมาะกับใคร? >>
– คนที่ไม่ซีเรียสกับกับคุณภาพไฟล์
– ถ่ายภาพทั่วไป เน้นได้ภาพทุกสถานที่ทุกโอกาส
– คนที่มีโทรศัพท์ที่ถ่ายรูปได้แต่ยังไม่ชัวร์ว่าจะก้าวหน้าได้มากกว่านี้ไหม เพราะถ้าไม่ได้ใส่ใจก็หยุดได้เพียงเท่านี้ แต่ถ้าซีเรียสขึ้นมาอีกนิดก็มีแอพพลิเคชั่นที่ช่วยปรับการตั้งค่าต่างๆของกล้องให้เลือกใช้มากมาย
– คนที่ไม่ต้องการพกอะไรไปมากกว่าโทรศัพท์
กล้องดิจิตอลขนาดพกพา (Compact Digital Cameras)
หรือที่เรียกว่ากล้องคอมแพคนั่นเองครับ กล้องชนิดนี้จะเน้นใช้งานง่ายพกพาง่ายเป็นอันดับสองที่รองมาจากมือถือ โหมดการตั้งค่าไม่ยุ่งยาก และด้วยว่าปัจจุบันกลุ่มตลาดของกล้องคอมแพคเริ่มถูกกลืนจากกล้องสมาร์ทโฟน (เพราะคุณภาพที่ได้ไล่ตามทัน) จึงเกิดกล้องคอมแพคในระดับสูงที่พกพาเอาประสิทธิภาพแบบเต็มสูบใส่เข้าไป กลายเป็นกล้องพรีเมียมคอมแพคที่ตัวเล็ก มีโหมดลูกเล่นต่างๆให้ด้วย และประสิทธิภาพเท่ากล้องระดับมืออาชีพเลยทีเดียว
FujiFilm FinePix X70 ดูไปแล้วก็เล็กจริงๆนะ
ภาพจาก FujiFilm FinePix X100 จัดอยู่ในกลุ่มกล้องพรีเมียมคอมแพค
ข้อดี >>
– เหมาะกับคนผู้ที่รักการถ่ายภาพในระดับเบื้องต้น จนถึงระดับสูงแต่ไม่อยากพกกล้องที่ใหญ่ไปกว่านี้ แล้วก็ไม่ได้อยากเลนส์งอกด้วย
– เมื่อเทียบกับกล้องที่เอาจริงเอาจังขึ้นมา เจ้านี่ดูขนาดเล็กและน้ำหนักเบาหวิวไปเลย
– ถ่ายง่ายฟังก์ชั่นไม่เยอะ และปัจจุบันก็รองรับฟังก์ชั่นแบบยากๆสำหรับมือโปรไว้ด้วยเช่นกัน
ข้อเสีย >>
– ในอนาคตการพูดถึงกล้องคอมแพคอาจจะหมายถึงแต่พรีเมียมคอมแพค นั่นเพราะว่ากล้องมือถือในปัจจุบันมีประสิทธิภาพสูงมากขึ้นเรื่อยๆ
– ราคาแบบสะอึกเลยก็มี คุณภาพเท่ากล้องมืออาชีพ อย่าง Sony RX1RII ราคาเปิดตัวราวๆ 120,000 บาท
– เพราะขนาดเล็กจึงดูไม่ค่อยเหมาะสมกับคนนิ้วใหญ่ๆ เพราะจะไปโดนปุ่มอื่นได้ง่าย
เหมาะกับใคร? >>
– ผู้ที่ต้องการพกกล้องไว้ถ่ายภาพทั่วไป พกได้ง่ายไม่เป็นภาระมากนัก
– นักท่องเที่ยวที่ซีเรียสกับคุณภาพไฟล์สำหรับพรีเมียมคอมแพค
– คนท่ีชอบถ่ายภาพครอบครัว, ภาพถ่ายวันหยุดสบายๆ, หรือพวกยกกล้องถ่ายไม่เป็นพิธีมากนัก หรือการถ่ายภาพสตรีท
– ผู้ที่ไม่ได้ต้องการเลนส์อื่นเพิ่มเติมอีกแล้ว พอใจแค่นี้
กล้องดิจิตอลไร้กระจก (Mirrorless Cameras)
แนวคิดของกล้องตัวนี้เกิดจากการที่มีคนอยากได้กล้องที่เปลี่ยนเลนส์ได้ มีขนาดเล็กพอๆกับกล้องคอมแพค แล้วก็ให้คุณภาพไฟล์เทียบเท่ากล้องมืออาชีพอย่าง DSLR (ตัวผู้สอนและทีมงาน DozzDIY ใช้กล้องประเภทนี้กันหมดทุกคน) หากพิจารณาในเรื่องของกลไกแล้วเมื่อเทียบกับกล้อง DSLR กล้องไร้กระจกจะไม่มีกระจกสะท้อนภาพไปยังช่องมอง แต่จะใช้ช่องมองแบบอิเล็กทรอนิกส์แทน
ทั้งผู้สอนและทีมงานต่างก็ใช้กล้องประเภทนี้อยู่
กลไกคร่าวๆของกล้องไร้กระจก
ข้อดี >>
– ปัจจุบันคุณภาพไฟล์เทียบเท่ากล้อง DSLR แล้ว และระบบออโตโฟกัสในตอนนี้เร็วที่สุดในโลกคือ a6300 ของโซนี่ (ส่วนค่ายอื่นก็ไล่พัฒนากันอยู่)
– โดยรวมในหลายๆรุ่นขนาดเล็กกว่า DSLR พอสมควร และในบางรุ่นเมื่อใส่เลนส์มันก็ไม่ได้เล็กกว่ากันเท่าไหร่ แต่ก็ถือว่าเล็กกว่าอยู่ดี
– มีเลนส์ให้เล่นเยอะเกือบจะพอๆกับ DSLR แล้ว และมีตัวแปลงเบ้าสวมเลนส์ให้สามารถใช้เลนส์สมัยเก่าที่เป็นระบบหมุนมือเองได้ด้วย
– สำหรับมือสมัครเล่นก็มีฟังก์ชั่นที่เหมาะสม และสำหรับช่างภาพมืออาชีพก็ถือว่าได้กล้องที่คุณภาพดีขนาดเล็กกว่า DSLR อยู่พอสมควร
– เวลาแอบถ่าย ผู้คนมักไม่ค่อยให้ความสนใจและดูเป็นมิตรมากกว่ากล้องขนาดใหญ่
ข้อเสีย >>
– สนนราคาเมื่อรวมเลนส์และสิ่งต่างๆเข้าไปแล้วอาจจะแพงกว่า DSLR
– เวลารับงาน ลูกค้าที่เคยชินกับกล้องขนาดใหญ่ไม่ค่อยให้ความเชื่อถือ
– ช่องมองภาพอิเล็กทรอนิกส์ยังมีการเหลื่อมของเวลา หรือว่าดีเลย์ ปัจจุบันก็ดีขึ้นตามลำดับ
– ใช้พลังงานอยู่ในระดับกลางๆ ไม่อึดมาก แล้วก็ไม่ได้หมดเร็วเกินไปนัก
เหมาะกับใคร? >>
– คนทั่วไปที่ต้องการกล้องดูดีมีสไตล์
– มืออาชีพที่ไม่อยากเล่น DSLR เพราะหนัก
– ผู้ถ่ายภาพตั้งแต่ระดับเริ่มต้นจนถึงระดับสูง
– นักท่องเที่ยวที่ต้องการถ่ายภาพแบบหวังผลด้านคุณภาพไฟล์
กล้องดิจิตอลสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยว (DSLRs)
กล้องประเภทนี้จะเหมาะสำหรับผู้ใช้ตั้งแต่เบื้องต้นไปจนถึงมืออาชีพ มีขนาดใหญ่และหนักที่สุดเมื่อเทียบกับทุกประเภท อีกทั้งฟังก์ชั่นการทำงานก็ปรับแต่งค่าได้ละเอียดมากที่สุด รองรับอุปกรณ์เสริมอย่างเต็มรูปแบบ ไฟล์ที่ได้จากกล้องประเภทนี้ก็ตามรุ่นนั่นคือดีพอสมควรไปจนถึงดีมาก แต่ก็ต้องเรียนรู้ระบบการทำงานของกล้องตัวนี้นานพอสมควรเพราะฟังก์ชั่นที่มากมายนั่นเอง
เนื่องจากกล้องประเภทนี้มีความนิยมสูง จึงเหมาะสำหรับผู้ที่รักการถ่ายภาพเบื้องต้นแต่ยังคงมีความต้องการความสามารถอื่นๆเผื่อเอาไว้ เรียกว่าเหลือดีกว่าขาด เราจึงพบผู้ใช้งานกล้องประเภทนี้ตั้งแต่เริ่มใช้งานไปจนถึงมืออาชีพ
เพิ่มเติม : อุปกรณ์เสริมมีขนาดใหญ่ตามกล้องไปด้วยนะครับ
เห็นได้ว่ามีขนาดที่ใหญ่พอสมควร ดังนั้นถ้าไม่ใจรักจริงก็อาจบ่นว่าหนักได้นะครับ
กลไกคร่าวๆของกล้องสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยว
ข้อดี >>
– มีเลนส์ให้เลือกเยอะมาก ทั้งของค่ายเองและนอกค่าย
– เข้าถึงการควบคุมส่วนต่างๆได้รวดเร็วมากเพราะปุ่มอยู่ด้านนอกเกือบหมดไม่ต้องไปหาในเมนู
– ระบบโฟกัสที่เร็วมากโดยส่วนใหญ่แทบทุกตัว
– ไฟล์ที่ดีมากในกล้องระดับสูงสุด มีความยืดหยุ่นสูง
– ความนิยมในกลุ่มช่างภาพมืออาชีพมีสูง ดังนั้นการเช่าเลนส์ตามร้านหรือหาเลนส์มาทดแทนก็ทำได้ไม่ยาก มีขายในหลายๆร้านตัวแทนครับ
ข้อเสีย >>
– น้ำหนัก และ ขนาด เป็นเหตุผลหลักที่หลายคนเลิกเล่นกล้องประเภทนี้
– ราคาของกล้องระดับสูงแพงมากพอสมควร
– ต้องมีความอุตสาหะในการใช้งานสูง ทั้งการเรียนรู้และพกพา
เหมาะกับใคร? >>
– ช่างภาพมืออาชีพ
– ช่างภาพที่ไม่มืออาชีพ แต่อยากมืออาชีพ
– ผู้ที่ต้องการตัวเลือกในการปรับแต่งกล้องได้อย่างอิสระ
– ผู้ที่ไม่หวั่นกับสัมภาระหลายๆกิโลกรัม เพื่อไปถ่ายภาพไกลๆ
ความคิดเห็นจากผู้สอนและทีมงาน DozzDIY
ต่อมาเป็นส่วนของการแสดงความคิดเห็นของทางทีมงาน DozzDIY ถึงกล้องที่พวกเขาใช้ซึ่งก็รวมไปถึงผู้สอน ว่าทำไมจึงใช้กล้องตัวนั้นตัวนี้ เป็นส่วนที่ช่วยขยายความเนื้อหาของกล้องแต่ละประเภทให้คุณได้เข้าใจมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามด้านล่างเป็นความเห็นส่วนบุคคลขอให้ใช้วิจารณญานกันด้วยนะครับ
Dozz – ผู้ก่อตั้งและผู้สอน
Petch – ช่างภาพและทีมซัพพอร์ท
Pod – ช่างภาพและทีมซัพพอร์ท