ถึงอย่างไรก็ตามข้อจำกัดบางประการและความเข้าใจของคุณลักษณะพรีเซ็ตก็ยังเป็นสิ่งที่ผู้ที่ซื้อพรีเซ็ตจากเราควรทราบ
ก่อนเข้าสู่การใช้งานพรีเซ็ตอย่างถูกต้อง เราจะย้อนไปสู่ส่ิงที่เป็นความเข้าใจขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับการตกแต่งภาพ (Fundamental) ว่าการบันทึกไฟล์ภาพดิบจากกล้องถ่ายภาพดิจิตอลนั้นแสดงผลค่าความสว่างของส่วนต่างๆด้วยฮิสโตแกรม โดยที่ส่วนมืดมากที่สุดของภาพจะอยู่ทางซ้าย และส่วนที่สว่างที่สุดอยู่ทางด้านขวา
ข้อมูลของภาพที่เปลี่ยนไปเมื่อมีการตกแต่งหรือใช้พรีเซ็ต
การบันทึกไฟล์ภาพดิจิตอลให้มีความพร้อมต่อการตกแต่งในลำดับขั้นตอนถัดไปนั้น จึงควรเป็นภาพถ่ายที่มีข้อมูลครบถ้วนไม่หลุดไปในทางใดทางหนึ่ง สีสันและน้ำหนักของภาพต้นฉบับจึงดูจืดยังไม่สวยงามในทีแรกเพราะภาพลักษณะดังกล่าวเป็นภาพที่มีข้อมูลอยู่ภายในสูง ทำให้มีพร้อมสำหรับการนำมาดึงเพื่อทำสีหรือน้ำหนักภาพ
หลักสูตร ‘หลักการถ่ายภาพพื้นฐาน’ ได้อธิบายถึงโครงสร้างที่มีความจำเป็นอย่างเป็นลำดับขั้นช่วยให้เรียนรู้ได้เร็วกว่าการศึกษาด้วยตนเอง
และเมื่อย้อนไปมากกว่านั้น เราจะพบว่าการได้มาซึ่งภาพถ่ายต้นฉบับที่มีข้อมูลและคุณภาพสูง ผู้บันทึกภาพต้องเข้าใจพื้นฐานการควบคุมกล้องและถ่ายภาพเบื้องต้นได้ดีในระดับหนึ่งแล้วนั่นเองครับ (ถึงได้บอกว่าการเรียนพื้นฐานถ่ายภาพเป็นเรื่องที่สำคัญมาก)
การออกแบบสีและน้ำหนักภาพต่างๆจากพรีเซ็ตฟิล์มทั้งหมดของเรา ส่งผลให้ไฟล์ภาพต้นฉบับถูกดึงข้อมูลมากขึ้นเมื่อกดใช้พรีเซ็ต การนำไฟล์ภาพต้นฉบับมาใช้พรีเซ็ตดังกล่าวจึงควรเป็นภาพถ่ายที่มีข้อมูลและคุณสมบัติพร้อมตามที่กล่าวมาข้างต้น
ยกตัวอย่างเช่น ฟิล์ม FujiChrome Velvia ซึ่งเป็นฟิล์มที่ให้สีสันและคอนทราสต์กับภาพสูงมากๆ
ภาพถ่ายภูเขาหินปูนที่ตำบลบ้านมุง อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก มีการจูนสีและปรับแต่งด้วยโครงสร้างพื้นฐานของพรีเซ็ตฟิล์ม FujiChrome Velvia 50
ทีนี้จึงเกิดคำถามสำหรับผู้ที่ใช้งานพรีเซ็ตอยู่บ้างว่า ถ้าบันทึกภาพที่ความไวแสงสูงจนมีน้อยส์กระจายทั่วไปในภาพ เวลากดใช้พรีเซ็ตฟิล์มซึ่งมีการเพิ่มเกรนไปด้วยภาพจะไม่แย่ลงไปกว่าเดิมหรือ?
ภาพถ่ายต้นฉบับไม่ควรมีเกรน ดังนั้นความไวแสงควรต่ำสุดเท่าที่ทำได้เพราะเกรนจากสเกลในพรีเซ็ตจะถูกเพิ่มทับเข้ามา
ขอตอบว่านี่คือข้อจำกัดหนึ่งในการใช้งานครับ มีอยู่สองสามวิธีที่แก้ไขได้ ข้อแรก ‘บันทึกภาพด้วยความไวแสงต่ำเพื่อไม่ให้เกิดน้อยส์หรือเกิดน้อยที่สุด’ และข้อสอง ‘ให้ปิดคุณสมบัติเกรนที่กล่องควบคุม Effect ในโปรแกรม’
เราคงไม่ระบุอย่างชัดเจนว่าโปรไฟล์ใดคือโปรไฟล์ที่ดีที่สุดในการใช้งานพรีเซ็ต นั่นเป็นเพราะความหลากหลายของกล้องดิจิตอลที่แต่ละท่านเลือกใช้ต่างกัน ทำให้โปรไฟล์ที่มีให้เลือกหลังจากนำภาพเข้ามาก็มีความแตกต่างกัน แต่ให้จำหลักง่ายๆว่า ‘โปรไฟล์ที่เลือกใช้ไม่ควรมีการเคลือบหรือประมวลผลสีสันและน้ำหนักที่มากเกินไป’ จนไม่เหลือพื้นที่ว่างในการสร้างสรรค์จากพรีเซ็ตของเรา
โปรไฟล์มีผลต่อสีพื้นฐานก่อนนำไปตกแต่งภาพ ถ้าภาพต้นฉบับสีเข้มมากเกินไปจนใช้พรีเซ็ตยากลองเปลี่ยนโปรไฟล์ให้สีจืดลงก็เป็นวิธีหนึ่งที่น่าสนใจ
ทั้งหมดนี้คือความรู้เบื้องต้นในการใช้งานพรีเซ็ตให้เกิดประสิทธิภาพและแสดงคุณสมบัติเอกลักษณ์ของฟิล์มแต่ละชนิดให้ออกมาดีที่สุด เพื่องานที่ดีที่สุดครับ