หลากหลายสาเหตุเหลือเกินที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อกล้องดิจิตอลตัวแรกในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นกล้องที่เพื่อนบอกว่าดี, ดาราคนนี้ที่เรากำลังติดตามใช้อยู่แล้วแนะนำ หรือโปรโมชั่นสุดร้อนแรงส่งท้ายปี ฯลฯ สิ่งเร้าเหล่านี้กระตุ้นความต้องการจนเริ่มไม่เป็นตัวของตัวเอง กลายเป็นความคล้อยตามจนได้กล้องดิจิตอลที่ไม่รู้ว่าจริงๆแล้วจำเป็นหรือไม่
กล้องดิจิตอลตัวแรกในชีวิตของผู้สอนคือ Sony DSC-T9 จำได้ว่าซื้อมาในราคาสองหมื่นกว่าบาท โดยที่ตอนนั้นไม่ได้มีความรู้อะไรเกี่ยวกับกล้องเลยแม้แต่น้อย แต่เพราะมีความเชื่อมันในแบรนด์โซนี่ตั้งแต่สมัยฟังวอล์กแมนและใช้หูฟังแบรนด์นี้มาตลอดเลยคิดว่าน่าจะมีฟังก์ชั่นในการถ่ายภาพที่ดี

มีคำถามอยู่ว่า ‘แบรนด์สำคัญกับคุณแค่ไหน?’ ในการเลือกซื้อกล้องดิจิตอล
จากย่อหน้าแรกพบว่าการถ่ายรูปเริ่มต้นหลังจากมีกล้องถ่ายรูป และพอมีทักษะในการถ่ายรูปรวมไปถึงการศึกษาหาความรู้จากสื่อต่างๆ พบว่าไม่ตอบสนองงานที่ใช้มากนัก ทั้งทางยาวโฟกัสหรือพิกเซลที่น้อยเกินไป อีกทั้งคุณภาพในการบันทึกภาพที่ยังไม่มากเท่ายุคสมัยที่เริ่มเปลี่ยนแปลงไปไวขึ้น
สรุปอย่างง่ายได้ว่าถ้าย้อนกลับไปผู้สอนคงไม่เลือกซื้อกล้องตัวนี้ หนึ่งเพราะไม่ได้ตอบสนองการใช้งานกว้างตามความต้องการที่แท้จริง (เพิ่งมารู้เอาทีหลังว่าจริงจังถึงขนาดกลายเป็นครูอาจารย์ ก็ใครจะไปรู้ล่ะจริงไหมครับ..)
ความสนิทสนมชอบพอตลอดจนความไว้เนื้อเชื่อใจที่อาจเคลือบแคลงไปด้วยผลประโยชน์ต่างๆ ส่งผลอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจจับจ่ายเงินของผู้ติดตาม ยกตัวอย่างเช่น อยากใช้กล้องถ่ายรูปดิจิตอลเหมือนเน็ตไอดอลคนนั้นเพราะเห็นว่าภาพสวยโดยตัดเรื่องของเหตุและผลออกไปก่อน

ถ้าบุคคลที่เรากำลังติดตามเขาใช้ผลิตภัณฑ์ตัวใดตัวหนึ่ง สินค้าชิ้นนั้นส่งผลในการตัดสินใจซื้อมากน้อยแค่ไหน?
สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่า ‘ความรู้สึก’ มักมาก่อน ‘ความถูกต้องเหมาะสม’ อยู่เสมอ ทำให้กลุ่มผู้ที่ตัดสินใจซื้อตามมองข้ามข้อเสียเล็กน้อยจนถึงมากได้อย่างไม่ลังเล
และแน่นอนว่าผู้สอนก็ถือเป็นอินฟลูเอนเซอร์คนหนึ่งเหมือนกัน ดังนั้นคุณก็ไม่ควรเชื่อสิ่งที่ได้บอกกล่าวไว้ทุกอย่าง ควรศึกษาให้มากก่อนตัดสินใจ
สิ่งที่ทำให้หลักการและเหตุผลแทบจะหายวับไปในหัว ก็คือ ‘เงิน’ นี่เองครับ เงินอย่างเหลือเฟือทำให้เราไม่คิดมากในจับจ่ายจนกลายเป็นซื้ออะไรมาบ้างก็แทบไม่ได้สนใจ กล้องหรือเลนส์กองเต็มห้องไปหมดแต่ก็ไม่ได้ใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

มีเงินนั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็คนละเรื่องกับการได้กล้องที่ตอบสนองทุกอย่างตามต้องการ
ขีดจำกัดในการจับจ่ายช่วยให้เราใช้สมองไตร่ตรองกับวัตถุที่จะซื้อมากขึ้น เรากำลังพูดกันถึง ’ความถูกต้อง’ ที่คงไม่ได้ตอบสนองทุกอย่างที่ ‘ต้องการ’ แต่เน้นไปที่การตอบสนองสิ่งที่ ‘จำเป็น’ เพราะเชื่อเถอะครับคุณไม่ได้ใช้กล้องตัวนี้ไปตลอดชีวิตหรอกนะ
สามสาเหตุเป็นเพียงตัวอย่างที่พอให้เห็นภาพว่าการตัดสินซื้อกล้องดิจิตอลตัวแรกจะกลายเป็นความผิดพลาดได้ง่ายๆ หาข้อมูลให้มากที่สุดและดูความต้องการที่แท้จริงของตัวเองว่ากล้องตัวนั้นตอบสนองความต้องการได้ครอบคลุมหรือไม่ ที่สำคัญมีสติอยู่เสมอนะครับ