Sigma SD Quattro – โฟวิยงที่เปลี่ยนเลนส์ได้

เช้าวันที่เสาร์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา ผู้สอนและทีมงานภาคสนาม ได้รับเกียรติจากทางบริษัทชีร์โร่มาร์เก็ตติ้ง (ประเทศไทย) และคุณพิษณุ โถยอด ในการเข้าร่วมใช้งานและนำกล้องถ่ายภาพดิจิตอล Sigma SD Quattro พร้อมเลนส์​ Sigma 18-35mm f/1.8 DC HSM Art กับ Sigma 50-100mm f/1.8 DC HSM Art ที่สวนวชิรเบญจทัศน์ (สวนรถไฟ), กรุงเทพฯ พร้อมนำกลับมาทดลองใช้งานจริงในหลายสถานการณ์ ความประทับใจและข้อเสนอแนะรวมไปถึงคำแนะนำเพิ่มเติมจะเป็นอย่างไรบ้าง บทความนี้จะได้กล่าวถึงอย่างละเอียดกันครับ

สิ่งที่ควรรู้ก่อนอ่านบทความด้านล่างนี้

ผู้สอนมีประสบการณ์ในการใช้งานจริงจากกล้องถ่ายภาพดิจิตอล Sigma มาได้สักพักใหญ่ๆแล้ว (ซึ่งได้แก่ Sigma DP1 Merrill, Sigma DP2 Merrill และ Sigma DP3 Quattro จนถึงตอนนี้ทั้งสามยังคงเป็นกล้องถ่ายภาพหลักติดตัว) รวมไปถึงทีมงาน DozzDIY ทุกท่านต่างได้ใช้งานกล้องที่ว่ามานี้กันอย่างทั่วถึง

ภาพบรรยากาศวันที่ 6 พฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา
1/500sec | f/1.8 | ISO100
Sigma SD Quattro + Sigma 18-35mm f/1.8 DC HSM Art

Sigma DP3 Quattro และ Sigma DP2 Merrill ที่ผู้สอนใช้อยู่

ทั้งถ่ายเล่นและเป็นการเป็นงาน (ในภาพคือ Sigma DP2 Merrill)

ความลำบากในการใช้งานคงไม่มีการพูดถึงมากนักซึ่งถ้าผู้อ่านอยากทราบรายละเอียดในส่วนนี้ขอให้ย้อนไปอ่านในบทความที่ผ่านมาเกี่ยวกับกล้อง Sigma ไม่ว่าจะเป็น Sigma DP2 Merrill และ Sigma DP3 Quattro ที่ผู้สอนเคยเขียนไปนะครับ

ลักษณะทางกายภาพทั่วไป

ถ้าต้องเทียบกับกล้องถ่ายภาพดิจิตอลจาก Sigma กับค่ายอื่น สิ่งที่ต้องพูดถึงคงมีหลายเรื่อง อาทิ กล้องใหญ่ขึ้นแต่เซ็นเซอร์ยังเป็นขนาด APS-C เหมือนเดิม (ทำให้คนที่ใช้อยู่จะสงสัยว่าเหนื่อยเพิ่มขึ้นเพื่อแค่เปลี่ยนเลนส์เนี่ยเหรอ) หรือ ไม่ว่าจะเป็นเบ้าสวมเลนส์ที่ยื่นออกมาด้านหน้า (เบ้าสวมเลนส์ใช้กับเลนส์ Sigma SA เดิมได้เลย เป็นเลนส์​ DSLR ด้วยครับ แปลกจริงๆ) หรือจะเป็นตำแหน่งของปุ่มที่พิลึกกึกกือจนไม่อาจใช้ความเคยชินเดิมๆ สร้างความสับสนพักใหญ่ในการใช้งานจนกว่าจะเข้าที่ ทุกอย่างนี้ต้องคลุกคลีอยู่ด้วยสักพักจึงเกิดความคุ้นชิน การนำออกนอกสถานที่และเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่ต้องถ่ายภาพบ่อยๆจะทำให้เกิดความคุ้นเคยจนเข้าที่เข้าทาง

ความคล่องแคล่วในการใช้งาน (Mobility)

Sigma SD Quattro เป็นกล้องไร้กระจก (Mirrorless Camera) มีรูปลักษณ์ที่ใหญ่จนเกือบเทอะทะเท่ากับกล้อง DSLR ในรุ่นกลาง เฉพาะตัวกล้องหนักราวๆ 625 กรัม กริปถือออกแบบมาได้ดีจับถนัดไม่หลุดง่ายมีความแข็งแรง

ความคล่องตัวเมื่อเทียบกับซีรี่ย์ DP Quattro ที่เคยใช้ลดลงไปค่อนข้างเยอะ ความนิ่งในการถือถ่ายด้วยมือลดลง การใช้งานทั้งวันสร้างความเมื่อยล้าให้กับคนที่ไม่แข็งแรงมากพอทำให้การเปลี่ยนเลนส์จึงรู้สึกขี้เกียจตามไปด้วย เพราะน้ำหนักที่มากขึ้นทั้งตัวกล้องและเลนส์ แต่สำหรับผู้ที่เคยใช้กล้องขนาดดังกล่าวแล้วไม่น่าจะเป็นปัญหามากเท่าไรนัก

ตำแหน่งของปุ่มกับการวางมือ (Positioning & Handling)

ความประทับใจแรกของทีมงาน DozzDIY ทุกท่านที่ได้เห็นกล้องนี้ก็คือเราไม่รู้ว่าปุ่มเปิดปิดกล้องอยู่ตรงไหน เรียกได้ว่าเป็นมิติใหม่ของการวางตำแหน่งปุ่มของกล้องถ่ายภาพดิจิตอลเลยทีเดียวเพราะตำแหน่งที่ว่าคือคอเบ้าสวมเลนส์นั่นเองครับ งงใช่ไหมล่ะ (นึกว่าสวิตซ์หมุนโฟกัสด้วยมือ)

ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างคอนโทรลเลอร์ทางด้านขวาของกล้องนั้นยากที่จะใช้ช่องมองภาพพอสมควร ถ้าหากจะใช้ช่องมองภาพต้องสร้างความเคยชินไปสักระยะโดยเริ่มจากการมองที่จอ LCD ซึ่งให้ความละเอียดของสีสันที่เชื่อถืออะไรไม่ได้แถมยังมีจังหวะหน่วงอีกต่างหาก แต่พูดถึงสถานการณ์จริงผู้สอนก็ไม่ค่อยได้ใช้ช่องมองแม้ในกลางแจ้ง จะเอามือป้องแสงแล้วมองผ่าน LCD อยู่แล้ว

โปรแกรม Sigma PhotoPro 6.5.3 ที่ไวขึ้น
และรองรับโหมด SFD จากซีรี่ย์ DP Quattro ด้วยแล้ว

การใช้งานที่ง่ายขึ้นกว่าทุกรุ่นที่ผ่านมา (Easy to Use)

ถ้า Sigma จะต้องทนทำกล้องที่ช้าลงไปกว่ารุ่นที่แล้วคงไม่มีใครใช้แน่ๆแม้กระทั่งผู้ใช้เก่า และเป็นปกติอยู่แล้วที่กล้องในรุ่นถัดมาจะรับเอาข้อบกพร่องและปัญหาครั้งเก่าก่อนไปปรับปรุงทำให้ต้องบอกว่า Sigma SD Quattro เป็นกล้องถ่ายภาพที่พร้อมแล้วสำหรับผู้ถ่ายภาพหน้าใหม่ที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์ในการถ่ายภาพมาก่อน (ก็จะดีมากเพราะจะได้ไม่มีอะไรบ่น 555) หรืออยากย้ายค่ายแล้วมาลองระบบใหม่

Face Detection ทำให้ไม่พลาดในการถ่ายภาพบุคคล

สิ่งที่นอกเหนือจากความเร็วในการเข้าถึงเมนูส่วนต่างๆก็มีโหมดวิเคราะห์ใบหน้าที่ทำให้ถ่ายภาพบุคคลได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ทั้งยังมีการปรับปรุงการทำงานด้านซอฟท์แวร์ตกแต่งแก้ไขอย่าง Sigma PhotoPro ให้ทำงานร่วมกันกับไฟล์ภาพดิบได้อย่างมีเสถียรภาพมากขึ้นอีกด้วย

เซ็นเซอร์ Foveon “Quattro” ที่ดูเหมือนจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น

เซ็นเซอร์ที่ให้รายละเอียดขั้นสุดยอดเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่ผู้ใช้งานกล้องถ่ายภาพดิจิตอลจาก Sigma หลงไหลมาทุกวันนี้ (ผู้สอนก็เป็นคนหนึ่งในนั้น) แต่กว่าจะเป็นเซ็นเซอร์ที่ได้รับการพัฒนามาจนถึงปัจจุบันนั้นก็สร้างความไม่พอใจกับผู้ใช้ส่วนหนึ่งว่าทำไมจึงยอมลดความเป็นตัวเองลงโดยการลดจำนวนพิกเซลของชั้นฟิลเตอร์สีแดงและสีเขียวเหลือเพียง 1 ใน 4

Sigma ให้เหตุผลว่าการลดรายละเอียดส่วนของสีแดงและสีเขียวส่งผลกับคุณภาพไฟล์ภาพลงก็จริงแต่ไม่มากนัก เพราะชั้นบนสุดเก็บรายละเอียดและส่วนสีสว่างจำนวนมากของภาพอยู่แล้ว ผลดีที่ได้คือการประมวลผลที่รวดเร็วมากยิ่งขึ้นและความร้อนที่ลดลง (ข้อหลังนี่เหมือนจะยังไม่ค่อยได้รับการแก้ไขเท่าไหร่เนื่องจากปัญหากล้องหยุดชะงักเพราะความร้อนยังมีให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง)

เซ็นเซอร์ Foveon ในเจเนอเรชัน Quattro (Quattro แปลว่า ‘4’)

ความเห็นส่วนตัวของผู้สอนจากที่ได้ลองใช้เซ็นเซอร์โฟวิยงเจเนอเรชั่น Quattro ใน Sigma DP Quattro เทียบกับ Sigma DP Merrill ก็รู้สึกว่าไม่ได้ส่งผลกระทบต่อจิตใจนัก เพราะยังไงก็ต้องเอามาลดรายละเอียดที่มากเกินไปให้น้อยลงอยู่ดี

Sigma SD Quattro มาพร้อมกับการบันทึกไฟล์เพิ่มเติมในรูปแบบ DNG

ทาง Sigma ได้มีการอัปเดตซอฟท์แวร์กล้องเพื่อให้กล้องถ่ายภาพดิจิตอลจาก Sigma ตั้งแต่ซีรี่ย์ DP Quattro ขึ้นไปสามารถบันทึกไฟล์ภาพให้อยู่ในนามสกุล DNG ได้ นามสกุลดังกล่าวนี้เป็นนามสกุลไฟล์ภาพดิบสากลที่นำไปเปิดในโปรแกรมตกแต่งแก้ไขไฟล์ภาพดิบใดๆก็ได้โดยไม่จำเป็นต้องให้โปรแกรมนั้นอัปเดตให้ทันสมัย เป็นประโยชน์ต่ออนาคตหากเกิดกรณีค่ายกล้องดังกล่าวไม่ได้พัฒนาอีกต่อไปจนทำให้โปรแกรมในอนาคตเลิกใส่ใจนามสกุลไฟล์ภาพดิบที่เป็นนามสกุลเอกลักษณ์

เมื่อเปิดใน Adobe Lightroom CC 2015.10 โปรไฟล์มาครบแล้ว!
(ขนาดไฟล์เมื่อเป็น DNG คือ 113.8 MB เมื่อเทียบกับ ตอนเป็น X3F คือ 53.5MB)

กำหนดนามสกุลไฟล์ใน Option ที่ 3
(ในภาพคือ Sigma SD Quattro H เมนูเหมือนกันเป๊ะครับ)

และข้อดีมักมากับข้อเสียเสมอ เนื่องจากว่าไฟล์ภาพดิบของกล้องถ่ายภาพดิจิตอล Sigma มีการบันทึกรายละเอียดที่มีความหนาแน่นสูง การที่จะแปลงข้อมูลดังกล่าวให้แสดงผลและแก้ไขได้บนโปรแกรมแปลงไฟล์ภาพดิบ (RAW Converter) อย่างเช่น Adobe Photoshop Lightroom จำเป็นต้องมีการจัดเรียงข้อมูลแบบใหม่ ทำให้ไฟล์ DNG เมื่อเทียบครั้งเมื่อยังเป็นนามสกุล X3F (นามสกุลไฟล์ภาพดิบจาก Sigma เดิม) มีขนาดใหญ่กว่าเดิมเกือบ 2 เท่า!

โหมดภาพถ่ายความละเอียดสูง (Super Fine Detail – SFD)

โหมดถ่ายภาพความละเอียดสูงเป็นโหมดพิเศษที่ Sigma มีอัปเดตเฟิร์มแวร์ย้อนหลังให้กับกล้องในซีรี่ย์ DP Quattro เพิ่มเติมด้วย กล้องจะทำการบันทึกภาพที่มีการเพิ่มของแสงสามลำดับ (+1EV, +2EV และ +3EV) อีกสามภาพ และลดแสงอีกสามภาพ (-1EV, -2EV และ -3EV) รวมเป็น 7 ภาพ จากนั้นจึงนำค่าแสงมารวมกันเป็นไฟล์ภาพเดียวในรูปแบบไฟล์ภาพดิบ .X3I ซึ่งขยายขีดจำกัดของการรับแสงจากปกติเป็นอย่างมาก ทั้งยังลดคลื่นสัญญาณรบกวนลงได้อย่างน่าประทับใจ

ถ้าถ่ายปกติ Sigma จะไม่สามารถเก็บรายละเอียดท้องฟ้าได้เนี้ยบขนาดนี้
Super Fine Detail Mode | f/8 | ISO100
Sigma SD Quattro + Sigma SD 18-35mm f/1.8 DC HSM Art

ข้อดีของการขยายขีดจำกัดในการรับแสงนั้น นอกจากจะมีความยืดหยุ่นในการแก้ไขที่ดีมากขึ้นแล้ว รายละเอียดในการไล่ระดับน้ำหนักในภาพยังเรียบเนียนขึ้นกว่าเดิมด้วย

ข้อจำกัดของการใช้โหมด SFD ที่ควรพึงระวัง : โหมดดังกล่าวไม่เหมาะกับการบันทึกสิ่งที่กำลังเคลื่อนไหวและไม่เหมาะสมอย่างยิ่งกับการถือถ่ายด้วยมือเปล่าเนื่องจากจะเป็นปัจจัยให้เกิดการซ้อนทับของภาพหรือรอยต่อที่ไม่สนิท และสุดท้ายก็คือขนาดไฟล์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเป็นอย่างมาก

ภาพจาก Sigma SD Quattro จากผู้สอนและทีมงาน DozzDIY

ระยะเวลาที่เราใช้เจ้า Sigma SD Quattro ถึงแม้ว่าจะเป็นเวลาไม่นานนักแต่ก็ถือว่าเข้มข้น เรียกได้ว่าพกติดตัวกันตลอดเวลาและสลับให้อีกคนใช้ทันทีเมื่อมีโอกาส ทำให้ช่วงเวลาที่กล้องตัวดังกล่าวอยู่กับเราถูกใช้งานอยู่เสมอ ด้านล่างนี้คือภาพตัวอย่างคร่าวๆจากการใช้งานกล้องถ่ายภาพ Sigma SD Quattro เซ็นเซอร์โฟวิยงตัวล่าสุดจาก Sigma พร้อมข้อมูลภาพ

1/100sec | f/2.2 | ISO100
Sigma SD Quattro + Sigma 18-35mm f/1.8 DC HSM Art

1/100sec | f/1.8 | ISO100
Sigma SD Quattro + Sigma SD 18-35mm f/1.8 DC HSM Art

1/80sec | f/1.8 | ISO100
Sigma SD Quattro + Sigma 50-100mm f/1.8 DC HSM Art

1/200sec | f/1.8 | ISO100
Sigma SD Quattro + Sigma 18-35mm f/1.8 DC HSM Art

1/25sec | f/1.8 | ISO100
Sigma SD Quattro + Sigma 50-100mm f/1.8 DC HSM Art

1/25sec | f/1.8 | ISO100
Sigma SD Quattro + Sigma 50-100mm f/1.8 DC HSM Art

 

1/200sec | f/5.6 | ISO100
Sigma SD Quattro + Sigma 150-600mm f/5.0-6.3 DG OS HSM Contemporary

Photographer : Pongphop Chuanasa
1/800sec | f/1.8 | ISO100 [DNG Format] Sigma SD Quattro + Sigma 18-35mm f/1.8 DC HSM Art

Photographer : Pongphop Chuanasa
1/4000sec | f/1.8 | ISO100 [DNG Format] Sigma SD Quattro + Sigma 50-100mm f/1.8 DC HSM Art

Photographer : Pongphop Chuanasa
1/125sec | f/1.8 | ISO100
Sigma SD Quattro + Sigma 50-100mm f/1.8 DC HSM Art

Photographer : Pongphop Chuanasa
1.6sec | f/8 | ISO100
Sigma SD Quattro + Sigma 18-35mm f/1.8 DC HSM Art

บทสรุป : Sigma ยังคงเป็นกล้องที่ถ่ายทั่วไปได้ยากอยู่ดี

ถ้าคุณยังคงหวังว่ากล้องในซีรี่ย์ใหม่ของทาง Sigma จะนำพาความสะดวกสบายมาถึงมือคุณล่ะก็เป็นความคิดที่ผิดมหันต์ทีเดียว เพราะความเปลี่ยนแปลงนั้นยังมีไม่มากสักเท่าไหร่ เช่น กล้องไวขึ้นเล็กน้อยโฟกัสแม่นมากยิ่งขึ้น หรือการที่เปลี่ยนเลนส์ได้ทำให้ขีดจำกัดของกล้องขยายออกไป นอกนั้นก็เหมือนเดิมไม่ว่าจะเป็น ISO ที่มีประสิทธิภาพเกือบจะเท่าเดิม แบตเตอรี่หมดไวเหมือนเดิมเพิ่มเติมคือความร้อน และอื่นๆดังที่กล่าวมา

ถ้าจะเปรียบกล้องระดับเทพซึ่งหมายถึงกล้องที่ตอบสนองผู้ใช้งานในทุกๆด้านไม่ว่าจะเป็นการโฟกัสที่ไวดุจสายฟ้าฟาด, ไฟล์ภาพระดับสำเร็จรูปที่ส่งหลังกล้องก็ยังได้ หรือ การไล่น้ำหนักที่เรียบเนียน ฯลฯ Sigma จะกลายเป็นกล้องฝั่งมารไปเลย เพราะสิ่งเดียวที่เอาชนะได้อย่างราบคาบคือรายละเอียดที่ค่ายไหนก็สู้ไม่ได้ในระดับเซ็นเซอร์แบบเดียวกันหรือเหนือกว่า ผู้ใช้งานที่รักในกล้องตัวดังกล่าวนี้จริงๆจึงต้องทำยังไงก็ได้ให้เกิดสถานการณ์ที่เหมาะสมเพื่อบันทึกภาพเสมอ (บรรลุวัตถุประสงค์โดยไม่สนวิธีการคิดความคิดของฝั่งมารล่ะนะ)

ด้วยเหตุนี้ในมุมมองของผู้สอนและทีมงาน DozzDIY จึงมองกล้อง Sigma เป็นกล้องสุดโต่งตัวหนึ่ง คนที่จะใช้งานได้อย่างปกติสุขต้องมีพื้นฐานการถ่ายภาพรวมไปถึงทักษะในการควบคุมอุปกรณ์ที่ดีพอสมควร หรือพูดง่ายๆว่ามีของอยู่บ้างจึงจะเอาอยู่นั่นเอง

สำหรับผู้ที่ต้องการความถึงที่สุดของไฟล์ภาพ ไม่มีกล้องตัวไหนที่ดีให้ไฟล์ดีเยี่ยมเท่า Sigma อีกแล้วในยุคนี้ ผู้ที่มีทักษะถึงพร้อมในการรีดเร้นศักยภาพแฝงสุงสุดที่กล้องตัวนี้มีจะได้รับรางวัลนั้น รับรองว่าหยาดเหงื่อจากความอดทนในทุกๆหยด หรือเงินทุกบาททุกสตางค์ที่จ่ายไปจะย้อนกลับมาเกินราคา หรือพูดง่ายๆว่าไม่มีหล่น ทอนกระจายแน่นอน

บทความที่เกี่ยวข้องในหมวดนี้
เกรนกับความคมชัดของภาพถ่าย

ถ้าเพิ่มเกรนน้อยเกินไปภาพก็ดูเหมือนจะไม่มีความแตกต่าง แต่ถ้าใส่มากเกินไปภาพก็แข็งกระด้าง ดังนั้นควรมีเกรนในปริมาณเท่าใดในภาพจึงจะช่วยให้ภาพดูดีขึ้น และใช่ เรากำลังพูดถึงเกรนในมุมที่เกี่ยวข้องกับความคมชัดของภาพถ่ายครับ

ฝึกฝนนิสัยถ่ายภาพด้วยเลนส์ไพร์ม

สิ่งที่ได้จากการใช้เลนส์ทางยาวโฟกัสเดียวไปสักระยะจะส่งผลต่อช่างภาพมือใหม่เพื่อฝึกฝนความอดทนและทลายขีดจำกัดของเลนส์ตัวนั้นได้อย่างไร เราจะได้เจาะลึกถึงการเติบโตด้วยข้อจำกัดเหล่านี้กัน

จัดการน้อยส์อย่างมีประสิทธิภาพสูง

หลายครั้งที่คุณสมบัติปัญญาประดิษฐ์อย่าง Denoise ปิดกั้นหนทางลดน้อยส์เกินไป ถึงเวลาแล้วที่เราจะลดน้อยส์ด้วยธีที่ละเอียดมากกว่าอย่าง Manual Noise Reduction

ร้านค้าออนไลน์ภายใต้ชื่อผู้ก่อตั้ง ‘Dozzo Flamenco’ ที่นี่จะมีผลิตภัณฑ์สื่อการสอนและเทรนนิ่งคลาสระดับคุณภาพเท่านั้น

บทความล่าสุด >>
เกรนกับความคมชัดของภาพถ่าย

ถ้าเพิ่มเกรนน้อยเกินไปภาพก็ดูเหมือนจะไม่มีความแตกต่าง แต่ถ้าใส่มากเกินไปภาพก็แข็งกระด้าง ดังนั้นควรมีเกรนในปริมาณเท่าใดในภาพจึงจะช่วยให้ภาพดูดีขึ้น และใช่ เรากำลังพูดถึงเกรนในมุมที่เกี่ยวข้องกับความคมชัดของภาพถ่ายครับ

การใช้งานคู่สีตรงข้าม

เรื่องของคู่สีรายล้อมรอบตัวเราอยู่ตลอดเวลา และ ‘คู่สีตรงข้าม’ (Complementary Colors) ก็จัดว่าเป็นการเข้าคู่ที่รุนแรงและทรงพลังอย่างมาก หากจะหยิบมาเพื่อใช้งานต้องเรียนรู้และเข้าใจวิธีหลีกเลี่ยงผลลัพธ์เชิงลบบางประการจึงจะเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลวส่วนบบุคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า