Color Range นับเป็นเครื่องมือในการคัดเลือกพื้นที่ๆมีความสำคัญมากในการแก้ไขภาพ เนื่องจากว่าจะช่วยให้ผู้เรียนคัดเลือกสีแบบจำเพาะเพื่อทำการแก้ไขได้อย่างแม่นยำ ในบทเรียนนี้จะเป็นการกล่าวถึงเครื่องมือนี้อย่างละเอียดทั้งในภาคของความรู้ที่จำเป็นและการประยุกต์
การเรียกใช้งานเครื่องมือ Color Range จะอยู่ในตัวเลือก Select บนบาร์ด้านบนโปรแกรม (Select > Color Range) ไม่ว่าผู้เรียนจะใช้ Windows หรือ Mac ก็ตาม มีข้อจำกัดเพียงอย่างเดียวนั่นคือ Color Range ไม่สามารถใช้งานได้กับการทำงานภาพในรูปแบบโหมด 32 บิต
การเปลี่ยนสีใดๆในภาพจึงทำได้ง่ายๆเพียงแค่กำหนดช่วงสีของภาพที่ต้องการ เช่น ผู้สอนต้องการเปลี่ยนเสื้อสีแดงของตัวแบบก็เพียงเรียกเครื่องมือ Color Range ขึ้นมาแล้วทำการระบุสีที่ต้องการแก้ไข จากนั้นจึงทำการแก้ไขขอบให้ดูแนบเนียน แล้วใช้ผสมเข้ากับเครื่องมือเลเยอร์ปรับแต่งเพื่อเปลี่ยนสีในตำแหน่งดังกล่าว
การประยุกต์เครื่องมือดังกล่าวในการแก้ไขภาพบุคคลจึงทำได้ดีมากยิ่งขึ้นด้วย Color Range และประโยชน์ของเครื่องมือที่ว่ายังมีอีกมากเท่าที่จินตนาการของผู้เรียนจะนำไปประยุกต์ใช้
ซึ่งวิธีการใช้งานเครื่องมือ Color Range มีดังนี้ครับ
1 ทำการเลือกเครื่องมือ Color Range โดยไปที่ Select > Color Range
เพิ่มเติม : สำหรับการใช้งานขั้นสูง Color Range สามารถที่ใช้กำหนดระดับความแรงของ Mask ตามความเข้มสีได้ด้วย (กรุณาเรียนในส่วนของหมวดที่ 9 ของหลักสูตร Photoshop CC for Photographer และการประยุกต์ใช้งานในหลักสูตรระดับสูง Photoshop CC for Pro-Retoucher)
2 ทำอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อใช้งานเครื่องมือต่อไปนี้
– Skin Tones : เพื่อให้โปรแกรมตรวจสอบสีที่คาดว่าจะเป็นสีผิวของมนุษย์ในภาพ ถ้าหากทำการเปิดใช้โหมด Detect Faces ด้วย จะยิ่งทำให้โปรแกรมตรวจจับหน้าเพิ่มเติมด้วย ทำให้ผลลัพธ์มีความแม่นยำมากขึ้น
– Sampled Colors : เปิดการใช้งาน Eyedropper Tool เพื่อทำการระบุสีที่ต้องการแก้ไขในภาพ และถ้าหากว่าต้องการระบุหลายๆสี ให้เลือก Localized Color Cluster เพื่อให้ผลลัพธ์ที่ได้แม่นยำมากขึ้น
3 ด้านส่วนแสดงผล เลือกได้ 2 แบบ
– Selection : ส่วนแสดงผลจะแสดงเป็นแบบขาวดำ โดยที่สีขาวหมายถึงส่วนที่ได้ทำการเลือกไว้ และสีดำคือพื้นที่ๆไม่ได้รับผลกระทบจากเครื่องมือ
– Image : ส่วนแสดงผลจะแสดงผลแบบรูปภาพ ดูเหมือนจะไม่มีประโยชน์แต่ก้มีไว้เพื่อแสดงส่วนที่เลือกหลังจากได้เลือกไปแล้วว่าทำงานเป็นอย่างไร
เพิ่มเติม : กรณีต้องการสลับไปมาระหว่างโหมดแสดงผลแบบ Selection และ Image ให้ลองกด Control [win] | Command [mac] แล้วปล่อยเพื่อสลับไปมา
4 เพื่อให้เครื่องมือทำการเลือกสี ให้ใช้เครื่องมือ Eyedropper Tool เลื่อนไปชี้ยังภาพในพื้นที่การทำงาน และคลิกลงบนสีที่ต้องการระบุ
สำหรับการปรับแต่งเพิ่มเติมของพื้นที่ๆเลือก ทำได้ดังนี้
– เพื่อเพิ่มสีที่ต้องการเข้าไปอีก ให้เลือกเครื่องมือ Eyedropper Tool ที่มีเครื่องหมายบวก แล้วคลิกเลือกสีเพิ่มเติม
– เพื่อลบสีที่เลือกมาก่อนหน้า ให้เลือกเครื่องมือ Eyedropper Tool ที่มีเครื่องหมายลบ แล้วคลิกเลือกสีที่ได้ทำการเลือกไว้ก่อนหน้า
เพิ่มเติม : การเปลี่ยนเป็น Eyedropper แบบบวกชั่วคราว ให้กดคีย์ Shift ค้างไว้ ส่วนการเปลี่ยนเป็น Eyedropper แบบลบชั่วคราวให้กดคีย์ Alt [win] | Option [mac] ค้างไว้
5 การปรับแต่งช่วงสีไม่ว่าจะขยายหรือลดช่วงสีกำหนดได้ที่แถบสไลด์ Fuzziness ค่าดังกล่าวหมายถึงว่าจะให้ช่วงของสีดังกล่าวกว้างออกไปเท่าไร (กรุณาศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Color Dimension) โดยที่ค่าตัวแปร Fuzziness ที่ต่ำจะทำให้ได้สีที่เจาะจงมากขึ้น และค่าตัวแปรที่มากขึ้นจะได้ช่วงสีที่มีความฟุ้งกระจายออกไปยังสีข้างเคียงสีที่ระบุ
ถ้าหากผู้เรียนทำเครื่องหมายที่ตัวเลือก Localize Color Cluster การใช้แถบสไลด์กำหนดช่วงสีจะกลายเป็นการกำหนดระยะห่างของสีข้างเคียงเทียบจากสีที่ระบุ ยกตัวอย่างเช่นการเลือกสีใดสีหนึ่งจากวัตถุท่างกลางฉากหลังสีเดียวในภาพ เครื่องมือดังกล่าวจะช่วยให้เราควบคุมพื้นที่คัดเลือกได้ดีมากยิ่งขึ้น
6 เพื่อแสดงส่วนที่ได้ถูกเลือกในภาพ ให้เลือกอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้
None : แสดงภาพเดิมๆ
Greyscale : แสดงสีขาวสำหรับส่วนที่ถูกเลือกเต็มๆ, สีเทาสำหรับการถูกเลือกบางส่วนและสีดำสำหรับส่วนที่ไม่ได้ทำการเลือกเลย
Black Matte : โหมดนี้จะเหมาะกับภาพที่สว่างมากๆ เพราะสีค่อนข้างมืด
White Matte : โหมดนี้จะเหมาะกับภาพที่มืดมากๆ เพราะสีค่อนข้างสว่าง
Quick Mask : แสดงสีแจ้งเตือน (ตั้งค่าได้) ในส่วนที่ไม่ได้ถูกคัดเลือก
7 สำหรับการย้อนไปยังพื้นที่ๆได้เลือกก่อนหน้า ให้กด Alt [win]| Option[mac] ค้างไว้แล้วสังเกตที่ปุ่ม Cancle จะกลายเป็นปุ่ม Reset ให้คลิกที่ปุ่มดังกล่าว
8 เพื่อบันทึกหรือโหลดช่วงสีที่ได้ทำการกำหนดเอาไว้ ให้กดที่ปุ่ม Save เพื่อสร้างใหม่ หรือ Load กรณีที่เคยได้บันทึกเอาไว้
เพิ่มเติม : แม้แต่สีผิวจากคำสั่งที่มีให้เลือกก็สามารถบันทึกเป็นแม่แบบเอาไว้ใช้ได้เช่นกัน
เพิ่มเติม : ถ้ามีข้อความปรากฏขึ้นมาว่า “No pixel are more than 50% selected” ขอบของพื้นที่เลือกจะไม่แสดงให้เห็น อาจจะต้องเลือกสีแจ้งเตือนให้เข้มมากพอที่จะมองเห็นพื้นที่เหล่านั้น
การบันทึกส่วนของสีผิวเป็นแม่แบบเอาไว้ใช้กับภาพอื่น
เครื่องมือ Color Range สามารถบันทึกค่าต่างๆไว้เป็นแม่แบบไว้ใช้กับภาพอื่นๆได้ อีกทั้งยังสามารถบันทึกร่วมกับตัวเลือกระบุใบหน้า (Detect Faces) เมื่อผู้เรียนได้ทำการเลือกส่วนสีผิว (Skin Tones) หรือ Sampled Colors ได้ด้วย
การบันทึกส่วนสีผิว (Skin Tones) เอาไว้เป็นแม่แบบ
1 เลือก Select > Color Range
2 ในตัวเลือกของกล่องเครื่องมือ Color Range เลือก Skin Tones จากเมนูตัวเลือก
3 เพื่อความแม่นยำให้ทำเครื่องหมายถูกที่ตัวเลือก Detect Faces และปรับแต่งค่าการฟุ้งกระจาย (Fuzziness) อาจจะเลื่อนสไลด์หรือใส่ค่าตัวแปรเข้าไป ตรวจสอบค่าดังกล่าวจากการพรีวิวหรือที่พื้นที่ทำงานเพิ่มเติม
4 พิมพ์ชื่อไฟล์ที่ต้องการบันทึก แล้วกดปุ่ม Save
การเรียกส่วนสีผิวที่ได้ทำการบันทึกเป็นแม่แบบเอาไว้
1 ที่กล่องเครื่องมือ Color Range คลิกที่ปุ่ม Load
2 เลือกไฟล์ที่ได้ทำการบันทึกเอาไว้เพื่อเรียกข้อมูลต่างๆออกมาใช้
[bsa_pro_ad_space id=7]
[bsa_pro_ad_space id=8]