Nisi V5 Filter : การใช้ฟิลเตอร์สำหรับมือใหม่

เวลาที่เราได้ทำอะไรในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อนนั้นไม่ว่าใครก็คงเต็มไปด้วยความตื่นเต้นและประหม่า ในครั้งนี้ผู้สอนได้รับภาระกิจให้นำชุดฟิลเตอร์ Nisi V5 Kit จากทาง Camera Maker พร้อมฟิลเตอร์แผ่นมาทดสอบไกลถึงจังหวัดภูเก็ต ความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจะเป็นอย่างไรบ้างผู้อ่านสามารถติดตามได้จากบทความนี้ครับ

ความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับการทดสอบที่จังหวัดภูเก็ต

ผู้สอนจะนำเสนอเนื้อหาของการเยือนจังหวัดภูเก็ตออกเป็น 3 มุมมอง ได้แก่มุมมองของการใช้งาน Sigma SD Quattro H เกี่ยวกับการถ่ายภาพในระยะทั่วไปตลอดทริป (ระยะ 18 ถึง 35mm กรณี Sigma SD Quattro H), การใช้งานฟิลเตอร์ Nisi สำหรับภาพท้องทะเล และบทความแยกส่วนเกี่ยวกับสถานที่ในหอแสดงภาพ ซึ่งทั้งหมดจะถูกนำไปเผยแผร่บนพิกัดแผนที่เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้สืบค้นข้อมูลต่อไป

มุมมองที่ 1
Sigma SD Quattro H
เพื่อการใช้งานแบบนักท่องเที่ยว

มุมมองที่ 2
Nisi Filter V5 Kit
การใช้ฟิลเตอร์สำหรับมือใหม่

มุมมองที่ 3
สถานที่ต่างๆที่เราไปเยือน
(อยู่ในหอแสดงภาพ)

ปัญหาในการถ่ายภาพที่พบโดยทั่วไปในชีวิตประจำวัน

ถ้าต้องตกอยู่ในสภาพของแสงที่แรงมากๆจนกล้องไม่สามารถเก็บรายละเอียดอย่างก้อนเมฆบนท้องฟ้า หรือ ไม่สามารถเพิ่มระยะเวลาเก็บแสงเพื่อให้เกิดการเคลื่อนไหวของสายน้ำเนื่องมาจากแสงมากเกินไป ปัญหาดังกล่าวนี้หลายท่านอาจจะต้องรอให้แสงมีความแรงลดลง หรือหลีกเลี่ยงมุมปะทะดวงอาทิตย์โดยตรงจึงจะบันทึกได้

เพราะแสงในตอนกลางวันมีมากเกินไป
จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะถ่ายภาพสายน้ำให้มีความนุ่มนวล
1/640sec | f/2.8 | ISO100
Sigma DP3 Quattro

วันที่ฟ้าจ้ามากๆนอกจากจะได้ฟ้าที่ไม่ค่อยสดใสแล้ว
รายละเอียดบนท้องฟ้าที่เห็นเวลาส่องกล้องมักหายเป็นประจำ
1/4000sec | f/1.4 | ISO100
Sigma SD Quattro H + Sigma 35mm f/1.4 DG HSM Art

ประโยชน์และความรู้เบื้องต้นก่อนการใช้งานฟิลเตอร์

จะดีกว่าไหมถ้ามีแผ่นอะไรสักอย่างหนึ่งซึ่งนำมาแปะที่หน้าเลนส์แล้วช่วยลดปัญหาดังกล่าวได้ เช่น ทำให้แสงวิ่งเข้าเลนส์ได้น้อยลงจนถ่ายภาพด้วยความเร็วชัตเตอร์ที่นานขึ้นในตอนกลางวันเพื่อสร้างการเคลื่อนไหวของสิ่งที่ขยับในภาพ หรือ ลดแสงที่มีความเปรียบต่างสูงเกินไปของพื้นที่บางส่วนในภาพ และอีกอื่นๆอีกมากมาย ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของฟิลเตอร์ที่ใครหลายคนกำลังมองหา

แต่ทว่าการซื้อหาฟิลเตอร์ที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้นจำเป็นต้องมีความรู้เบื้องต้นคร่าวๆอยู่บ้าง อาทิ หน้าเลนส์ที่เรากำลังใช้อยู่มีขนาดเท่าไร วงแหวนทดระยะคืออะไร ฟิลเตอร์แต่ละชนิดมีหน้าที่อย่างไรบ้างและใช้งานอย่างไร ผู้สอนจึงขออธิบายความรู้คร่าวๆก่อนเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดในเลือกซื้อฟิลเตอร์ครั้งแรกของมือใหม่ดังนี้

เส้นผ่านศูนย์กลางหน้าเลนส์ (Lens Diameter)

การเลือกซื้อชุดฟิลเตอร์ที่มีวงแหวนที่เข้ากันได้กับเส้นผ่านศูนย์กลางหน้าเลนส์เป็นสิ่งที่ควรพิจารณาเป็นลำดับแรก เพราะไม่อย่างนั้นซื้อมาก็เสียเงินเปล่าเพราะสวมเข้าเกลียวหน้าเลนส์ไม่ได้ อย่างภาพที่เห็น Samyang 12mm f/2.0 NCS CS มีเส้นผ่านศูนย์กลางหน้าเลนส์อยู่ที่ 67 มิลลิเมตร

วงแหวนทดระยะ (Step Ring)

วงแหวนทดระยะ (Step Ring) คือวงแหวนที่ใช้สวมเข้ากับหน้าเลนส์เพื่อเปลี่ยนขนาดเส้นผ่านสูนย์กลาง มีอยู่ด้วยกันสองแบบคือ Step Up หรือวงแหวนที่ขยายเส้นผ่านศูนย์กลางให้กว้างขึ้น และ Step Down เพื่อลดขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางให้เล็กลง ทั้งนี้เพื่อให้สามารถใช้กับฟิลเตอร์หรืออุปกรณ์พ่วงต่างๆได้

ตัวยึดฟิลเตอร์ (Filter Holder)

ตัวยึดฟิลเตอร์กรณีของ Nisi จะเป็นตัวจับยึดเข้ากับหน้าเลนส์ที่ใช้ โดยที่ประโยชน์มีไว้เพื่อใส่ฟิลเตอร์ทั้งแบบวงกลม และช่องสำหรับเสียบหรือถอดเปลี่ยนฟิลเตอร์แผ่น ทั้งนี้จะต้องประกอบชุดวงแหวนหรือแปลงระยะด้วยวงแหวนทดระยะให้เข้ากันกับชุดตัวยึดฟิลเตอร์นี้เสียก่อน

อุปกรณ์ฟิลเตอร์ Nisi V5 และ ฟิลเตอร์ประเภทต่างๆที่ใช้

ชุดตัวยึดฟิลเตอร์ Nisi V5 Kit ที่ทาง Camera Maker ให้ผู้สอนมาทดลองใช้ประกอบด้วยตัวเกลียวสำหรับหมุนใส่ด้านหน้าเลนส์ มีขนาด 67มม, 72มม, 77มม และ 82มม และตัวยึดฟิลเตอร์มาพร้อมกับฟิลเตอร์ตัดแสงสะท้อนแบบวงกลม (Nisi Pro C-PL) ที่สามารถประกอบชุดกันได้พอดี

ชุดฟิลเตอร์ที่ทดสอบมาในแพ็กเกจหนังหรูหรามากเลยทีเดียว

นอกจากนี้ก็ยังมีฟิลเตอร์ลดแสงแบบ 10 สต็อป (Nisi 100x100mm Nano IR – ND1000) และฟิลเตอร์ลดแสงครึ่งซีกแบบขอบเข้ม (Nisi Hard 100x150mm Nano IR GND8(0.9)) ทั้งหมดนี้คือชุดฟิลเตอร์ที่ได้มาทดสอบตลอดสามวันที่ผ่านมา โดยที่รายละเอียดรวมไปถึงตัวอย่างคร่าวๆมีดังนี้

ฟิลเตอร์ลดแสงแบบเต็มแผ่น (Natural Density Filter)

ฟิลเตอร์สีดำแบบเต็มแผ่น (Natural Density Filter หรือเรียกสั้นๆว่า ND Filter) มีหน้าที่ลดทอนกำลังของแสงให้วิ่งเข้าสู่เซ็นเซอร์ในปริมาณที่น้อยลง ไม่ว่าสภาพแสงในขณะนั้นจะมีมากหรือน้อยเพียงใดก็ตาม ฟิลเตอร์แบบตัดแสงก็มีอยู่หลายระดับของการตัดแสงด้วยกัน จำง่ายๆว่ายิ่งเลขมากยิ่งตัวได้มาก อย่างที่ผู้สอนได้มานี้สามารถตัดแสงลงได้ถึง 10 สต็อป ช่วยลดปริมาณแสงลงในเวลาที่มีแสงจ้าได้มาก ทำให้สร้างสรรค์ภาพที่มีการเคลื่อนไหวได้ดีเยี่ยมในเวลากลางวัน

ผลจากการใช้ฟิลเตอร์​ ND แบบเต็มแผ่นสามารถหน่วงเวลาลงเหลือ 2 วินาที
FujiFilm FinePix X-Pro1 + Samyang 12mm f/2.0 NCS CS
Nisi 100x100mm Nano IR – ND1000

ฟิลเตอร์ลดแสงแบบครึ่งซีกขอบเข้ม (Graduated Natural-Density Hard Edge Filter)

ฟิลเตอร์แบบลดแสงนอกจากจะมีแบบเต็มแผ่นก็ยังมีแบบไม่เต็มแผ่นอีกด้วย ซึ่งฟิลเตอร์ลดแสงลักษณะดังกล่าวนี้เป็นแบบไล่ระดับน้ำหนักความแรงของการลดแสงลงในแผ่นๆเดียว เรียกว่า Graduated Density Filter มีสองแบบด้วยกันคือฟิลเตอร์ลดแสงแบบขอบนุ่ม (Soft Edge) และฟิลเตอร์ลดแสงแบบขอบเข้ม (Hard Edge) ฟิลเตอร์ที่ผู้สอนได้มาเป็นอย่างหลังนะครับ ข้อเสียก็มีอยู่บ้างตรงที่ขอบเวลาเอามาทาบหน้าเลนส์จะเกิดรอยค่อนข้างชัด

การวางฟิลเตอร์ครึ่งซีกไม่มีใครระบุว่าต้องวางตรงๆตลอด
อย่างภาพนี้วางให้เอียงลงซ้ายเล็กน้อยแล้วแก้นิดหน่อยที่โปรแกรมก็ดูดีแล้ว
Sigma SD Quattro H + Sigma 18-35mm f/1.8 DC HSM Art
Nisi Hard 100 x 150mm Nano IR GND 8(0.9)

ฟิลเตอร์โพลาไรซ์แบบวงกลมสำหรับการตัดแสงสะท้อน (Circular Polarizing Filter)

ฟิลเตอร์โพลาไรซ์แบบวงกลมวิธีการใช้หลังจากใส่เข้ากับช่องใส่ฟิลเตอร์วงกลมของตัวยึดจาก Nisi แล้วก็สามารถหมุนที่แกนยึดเพื่อหาองศาการตัดแสงสะท้อนได้ ฟิลเตอร์โพลาไรซ์มีประโยชน์หลายอย่างในการถ่ายภาพเช่น ช่วยลดอาการวูบวาบของแสงที่ผิวน้ำ, เพิ่มความเข้มของสีบนท้องฟ้า เรียกได้ว่าเป็นตัวกำหนดสมดุลของแสงภายในภาพขอเพียงหันไปในทิศทางที่ถูกต้องและหมุนให้ได้องศาเท่านั้น

ภาพก่อนและหลังใช้ฟิลเตอร์โพลาไรซ์เพื่อเพิ่มความเข้มของท้องฟ้าในช่วงเวลาแดดจัด
Sigma SD Quattro H + Sigma 35mm f/1.4 DG HSM Art
Nisi Pro Circular Polarizing Filter

ประสบการณ์ที่ได้จากการการใช้งานชุดฟิลเตอร์ Nisi ครั้งแรกที่ภูเก็ต

อย่างที่บอกว่านี่เป็นการใช้งานฟิลเตอร์ครั้งแรกของการถ่ายภาพด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็นความรู้สึกจากการใช้งานชุดฟิลเตอร์จาก Nisi จริงๆซึ่งจะเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับข้อดีข้อเสีย รวมไปถึงความเห็นส่วนตัวเกี่ยวกับส่วนที่ผู้สอนแนะนำให้ผู้ใช้มือใหม่ทุกท่านพึงระวังเวลาใช้งานฟิลเตอร์เพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุด

ถึงฟิลเตอร์จาก Nisi จะบอกว่าสีเพี้ยนน้อยยังไงก็คือเพี้ยนน่ะล่ะ
ทางที่ดีที่สุดเตรียตัวบันทึกไฟล์ไว้กว้างๆเพื่อมาแก้ดีกว่า

แค่จุดเล็กๆบนฟิลเตอร์ก็สร้างหายนะให้กับภาพคุณได้
พึงระวังลมทะเลที่พัดละอองน้ำมาติดหน้าฟิลเตอร์และหมั่นคอยเช็ดอยู่เสมอ

ประกบกับชุดขาตั้งแล้วก็เคลื่อนย้ายยากใช่ย่อย ต้องระวังฟิลเตอร์เป็นพิเศษ

สรุปข้อดีข้อเสียที่พบจากการใช้งาน

ชุดตัวยึดฟิลเตอร์ของ Nisi ใส่ฟิลเตอร์แผ่นซ้อนได้ถึงสามอัน

สามอันนี่คือไม่รวม C-PL ที่เป็นฟิลเตอร์วงกลมซึ่งใส่ไว้ก่อน 1 อัน ทำให้โดยรวมแล้วใส่ได้ถึง 4 อัน เรียกได้ว่าตัวยึดตัวเดียวนั้นเผื่อช่องสำหรับอุปกรณ์แผ่นฟิลเตอร์มาให้เพรียบเลย ทีนี้จะใช้ฟิลเตอร์ C-PL นำไปก่อนแล้วตัดแสงด้วย ND Filter ทำได้สบายๆ

สีที่ผิดเพี้ยนจากแผ่นฟิลเตอร์นั้นน้อยมาก

คิดไว้ในใจว่ายังไงการเพิ่มฟิลเตอร์ขึ้นมาบังหน้าเลนส์สีของภาพที่ได้ก็ต้องเพี้ยนแน่อยู่แล้วแต่จะเพี้ยนมาหรือเพี้ยนน้อยเท่านั้น สรุปผลที่ได้คือเพี้ยนแต่ไม่มากจนน่ากังวลอะไร และยิ่งถ้าเป็น ND Filter เต็มแผ่นยังไงสีก็ไปทั้งภาพเลยไม่กังวลเท่าแบบครึ่งซีกที่ต้องมานั่งแก้ทีละส่วน

ช่องสำหรับไว้ใส่ฟิลเตอร์ C-PL มีแกนหมุนได้ด้วย

สิ่งที่ดีงามอีกอย่างของตัวยึดแผ่นฟิลเตอร์นั้น ด้านข้างมีแกนยื่นออกมาให้หมุนเพื่อปรับองศาของฟิลเตอร์วงกลมที่ทำได้ทันทีอย่างสะดวก ไม่ต้องยกเข้าๆออกๆ

ทนต่อรอยคราบและการขูดขีดเล็กๆน้อยๆได้ดี

มันก็เหมือนกับการรู้ว่าโทรศัพท์ตัวเองกันน้ำแต่ไม่กล้าเอาไปแช่น้ำเล่นนั่นแหล่ะครับ เอาเป็นว่าคราบน้ำเกลือหรือรอยขีดเม็ดทรายเล็กน้อยๆพยายามไม่ให้โดนอยู่แล้ว แค่นี้สบายใจได้เลย

ไม่สร้างปัญหาเรื่องขอบดำเพิ่มเติม

ลำพังการแก้ไขขอบดำจากเลนส์ก้พอแล้วอยู่แล้ว ถ้ามาเพิ่มขอบดำด้วยฟิลเตอร์ไปคงจะยากขึ้นอีก 1 ระดับ แต่ชุดฟิลเตอร์ของ Nisi ไม่เคยสร้างปัญหาพวกนี้เพิ่มเติมเลยไม่ว่าจะขอบดำหรือแสงรั่วก็เถอะ

การประกอบชุดฟิลเตอร์ต้องใช้เวลาพอสมควร

ยังไม่นับว่าเป็นข้อเสียเท่าไหร่เพราะใช้ไปบ่อยๆก็จำได้เอง แต่สำหรับมือใหม่ก็ต้องใช้เวลาในการประกอบร่างชุดฟิลเตอร์แบบนี้ไปสักพักใหญ่ๆ ซึ่งเวลาที่เสียไปนี่ล่ะ จะทำให้พลาดโอกาสทองในการเก็บช่วงเวลาดีๆที่มีไม่กี่ชั่วโมงในแต่ละวันช้าลงตามไปด้วย (ยิ่งคนที่ต้องทดสอบกับกล้องสองตัว)

การใส่ฟิลเตอร์แผ่นที่ตัวยึดแน่นจนรู้สึกกลัว

เพราะฟิลเตอร์แบบแผ่นนั้นเป็นชิ้นแก้ว การที่ต้องยัดวัสดุแบบนี้ลงในช่องที่มีความแข็งฝืดย่อมสร้างความไม่สบายใจให้ผู้ใช้พอสมควรเนื่องจากกังวลว่าใช้ไปใช้มาอาจจะแตกได้ (ดูจากสภาพหลุดมือก็ไม่น่ารอดแล้ว) เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ต้องพึงระวังให้ดีสำหรับผู้ใช้งานฟิลเตอร์ Nisi

สีที่ผิดเพี้ยนจากฟิลเตอร์แผ่นเป็นไปในโทนอุ่น

การแก้ไขสีที่ผิดเพี้ยนจากภาพกรณีของฟิลเตอร์ลดแสงทั้งแผ่นนั้นง่ายมาก เพียงแค่เพิ่มอุณหภูมิแสงไปในทิศทางที่ลบกว่าปกติสักหน่อยก็แก้ปัญหาคร่าวๆได้ แต่อย่างไรก็ตามควรบันทึกไฟล์ในรูปแบบ RAW จะดีกว่าเช่นในกรณีฟิลเตอร์ครึ่งซีกนั้นต้องแก้ไขกันวุ่นวายพอดู

ภาพที่ได้จากการใช้งานชุดฟิลเตอร์ของ Nisi

ผลลัพธ์นั้นน่าประทับใจและสวยงามคุ้มค่าเหนื่อยที่ได้ นอกเหนือจากนั้นก็เป็นประสบการณ์ต่างๆในการถ่ายภาพแบบ Long Exposure ในฤดูฝนที่เต็มไปด้วยความยากของสภาพอากาศ ทั้งหมดนี้ถ่ายทอดออกมาเป็นภาพชุด ซึ่งบันทึกโดย FujiFilm FinePix X-Pro1 และ Sigma SD Quattro H

บทสรุป

ชุดฟิลเตอร์ของ Nisi V5 และฟิลเตอร์แผ่นไม่ว่าจะเป็น ND Filter หรือฟิลเตอร์แบบครึ่งซีกก็ให้ประสิทธิภาพที่น่าพึงพอใจ แถมราคาก็ยังไม่แพงมากอีกด้วยเรียกได้ว่าถ้าจะซื้อยังไงๆก็คงจะพ้นค่ายนี้ไปได้ยาก สุดท้ายนี้ DozzDIY ต้องขอขอบคุณทาง Camera Maker ที่ส่งชุดฟิลเตอร์ดังกล่าวมาเพื่อการทดสอบด้วยครับ

บทความที่เกี่ยวข้องในหมวดนี้
เกรนกับความคมชัดของภาพถ่าย

ถ้าเพิ่มเกรนน้อยเกินไปภาพก็ดูเหมือนจะไม่มีความแตกต่าง แต่ถ้าใส่มากเกินไปภาพก็แข็งกระด้าง ดังนั้นควรมีเกรนในปริมาณเท่าใดในภาพจึงจะช่วยให้ภาพดูดีขึ้น และใช่ เรากำลังพูดถึงเกรนในมุมที่เกี่ยวข้องกับความคมชัดของภาพถ่ายครับ

ฝึกฝนนิสัยถ่ายภาพด้วยเลนส์ไพร์ม

สิ่งที่ได้จากการใช้เลนส์ทางยาวโฟกัสเดียวไปสักระยะจะส่งผลต่อช่างภาพมือใหม่เพื่อฝึกฝนความอดทนและทลายขีดจำกัดของเลนส์ตัวนั้นได้อย่างไร เราจะได้เจาะลึกถึงการเติบโตด้วยข้อจำกัดเหล่านี้กัน

จัดการน้อยส์อย่างมีประสิทธิภาพสูง

หลายครั้งที่คุณสมบัติปัญญาประดิษฐ์อย่าง Denoise ปิดกั้นหนทางลดน้อยส์เกินไป ถึงเวลาแล้วที่เราจะลดน้อยส์ด้วยธีที่ละเอียดมากกว่าอย่าง Manual Noise Reduction

ร้านค้าออนไลน์ภายใต้ชื่อผู้ก่อตั้ง ‘Dozzo Flamenco’ ที่นี่จะมีผลิตภัณฑ์สื่อการสอนและเทรนนิ่งคลาสระดับคุณภาพเท่านั้น

บทความล่าสุด >>
เกรนกับความคมชัดของภาพถ่าย

ถ้าเพิ่มเกรนน้อยเกินไปภาพก็ดูเหมือนจะไม่มีความแตกต่าง แต่ถ้าใส่มากเกินไปภาพก็แข็งกระด้าง ดังนั้นควรมีเกรนในปริมาณเท่าใดในภาพจึงจะช่วยให้ภาพดูดีขึ้น และใช่ เรากำลังพูดถึงเกรนในมุมที่เกี่ยวข้องกับความคมชัดของภาพถ่ายครับ

การใช้งานคู่สีตรงข้าม

เรื่องของคู่สีรายล้อมรอบตัวเราอยู่ตลอดเวลา และ ‘คู่สีตรงข้าม’ (Complementary Colors) ก็จัดว่าเป็นการเข้าคู่ที่รุนแรงและทรงพลังอย่างมาก หากจะหยิบมาเพื่อใช้งานต้องเรียนรู้และเข้าใจวิธีหลีกเลี่ยงผลลัพธ์เชิงลบบางประการจึงจะเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลวส่วนบบุคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า