Bit คือ หน่วยที่ใช้แสดงผลข้อมูลในทางดิจิตอล ดังนั้น Bit Depth จึงใช้ในการอธิบายจำนวนบิตที่เกี่ยวข้องกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น ถ้าเป็นเรื่องของเสียงก็ใช้แสดงถึงความละเอียดของช่วงคลื่นเสียง และถ้าเป็นภาพถ่ายก็หมายถึงความลึกหรือความมีมิติ (มีค่ามากก็มีมิติมาก)
Bit Depth สื่อถึงความเป็นไปได้ที่ภาพ ๆ หนึ่งจะมีสีอยู่ในภาพนั้นได้เท่าไหร่ ไม่ใช่ว่าภาพนั้นจะต้องมีการแสดงผลได้เต็มที่ทุกสี เป็นเพียงการบอกว่าภาพที่มี Bit Depth มากกว่า ความละเอียดในการไล่เรียงสีจะทำได้ดีกว่าเท่านั้น
ขนาดของเกรนที่เหมาะสมทำให้ภาพมีรายละเอียดเพิ่มขึ้น
กรณี 8 บิต 1 จุดพิกเซลในภาพขาวดำมีความเป็นไปได้ของรายละเอียดเท่ากับ 2 ยกกำลัง 8 (2x2x2x2x2x2x2x2 = 256 ช่อง) หมายความว่าการที่ภาพ ๆ นั้นจะไล่ระดับจากดำไปจนถึงขาว สามารถแบ่งออกเป็น 256 ระดับ (0-255 ให้นับเลข 0 ด้วย)
1 จุดพิกเซลสีในรูปถ่ายเกิดจากการประกอบกันของ 3 แชนเนลแม่สีแสง ได้แก่ แม่สีแสง แดง-เขียว-น้ำเงิน ดังนั้นรูปถ่าย 1 รูป จึงมีความแปรเปลี่ยนของแชนแนลแม่สีแสงในแต่ละพิกเซลอยู่มากมายไม่เท่ากัน กรณี 8 บิต หมายความที่ภาพ ๆ นั้นจะไล่ระดับเฉดของแต่ละแชนแนลแม่สีแสง 256 ระดับ ซึ่งมากกว่ารูปภาพขาวดำ
การแสดงผลของรูปภาพสี
– bits per channel คือ ค่า Bit Depth ของแต่ละแชนเนลสี
– bits per pixel คือ ค่าผลรวมจำนวนบิตของทั้งสามแชนเนลสี
ยกตัวอย่าง : กล้องถ่ายภาพดิจิตอลส่วนใหญ่ ให้ความละเอียดภาพที่ 8 bits per channel หมายความว่าในแต่ละแชนเนลสีสามารถแสดงความเข้มข้นของในแต่ละแม่สีได้ถึง 2x2x2x2x2x2x2x2 = 256 หน่วย ซึ่งถ้าคิดเป็น bits per pixel ที่ต้องรวมทั้ง 3 แม่สีหลักเข้าด้วยกันเพื่อแสดงๆจำนวนเฉดสีมากที่สุดที่เป็นไปได้นั้น จะได้เป็น 2^(8×3) = 16,777,216 เฉดสี
1. สร้างงานใหม่ขึ้นมาสองงานใน Photoshop ขนาดใดก็ได้ เทสีแบบแถบสีดำไปขาว (Gradient) ลงไป ให้งานแรกเป็นการทำงานแบบภาพ 8 บิต งานที่สองเป็นการทำงานกับภาพแบบ 16 บิต
2. กด Control + L (win)/ Command + L (mac) เพื่อเปิดหน้าต่าง Levels Editor ขึ้นมา ให้ใส่ค่า Output สีดำที่ 120 สีขาวที่ 140 แล้วกดตกลง
ขั้นตอนที่ 2 ให้ทำการบีบช่วงที่ Output Levels ตามรูป
3. สิ่งที่ผู้เรียนจะเห็นในตอนนี้คือสีเทาที่ไม่ต่างอะไรกันเลยไม่ว่าจะเป็นหน้าต่างของภาพแบบ 8 บิท และ 16 บิท
ขั้นตอนที่ 3 เราจะดึงไฟล์ให้ยืดโดยการกำหนด Input Levels ใหม่อีกครั้ง
4. เปิดหน้าต่าง Levels ขึ้นมาอีกครั้ง คราวนี้ให้ใช้สเกล Input Levels ดึงสเกลสีดำไปทางขวา และดึงสเกลสีขาวไปทางซ้ายให้ชิดที่สุดแถวขอบฮิสโตแกรม ทำอย่างนี้ทั้งสองหน้าต่างจะพบว่า หน้าต่างของภาพ 8 บิต เกิดพิกเซลแตกเป็นช่องค่อนข้างชัดเจน
ผลลัพธ์ที่ได้ ภาพแถบสีที่กำหนดไว้แบบ 8 บิต จะเริ่มไปก่อนเพื่อน กล่าวคือความเรียบเนียนเริ่มแตกเป็นช่องๆตามที่เห็นครับ
เหตุผลก็ง่าย ๆ เพราะสายตาของมนุษย์ไม่สามารถแยกแยะอะไรที่มีความแตกต่างน้อยมาก ๆ ได้จนกระทั่งเราบีบมิติของเฉดสีให้ไล่เข้ามาจนถึงขีดจำกัดของภาพแบบ 8 บิต ในขณะที่ภาพแบบ 16 บิตยังมีช่วงสีที่กว้างอยู่มาก
สรุปได้ว่าในขณะที่เรากำลังถ่ายภาพแบบ RAW ไฟล์ จำนวนบิตที่มากกว่า 8 ก็ย่อมที่จะแสดงผลได้เนียนละเอียดกว่า (RAW บางค่ายก็มีตั้งแต่ 12, 14 บิต ปัจจุบันก็อาจจะสูงกว่านี้) และใน Photoshop ก็มีการขยายโหมดเป็น 16 bit (LR ก็ด้วย) สิ่งที่เราจะใช้ประโยชน์ได้จากโปรแกรมทำภาพนี้ก็คือแปลงให้เป็นภาพแบบ 16 บิตในขณะที่ปรับแต่งภาพ แล้วเมื่อแต่งภาพเรียบร้อยให้เซฟเป็น 8 บิต ไฟล์จะเสียหายน้อยกว่านั่นเอง
การนำรูปภาพเผยแพร่ในรูปแบบไฟล์ JPEG สามารถจุได้แค่ 8 บิต และมันเพียงพอต่อการนำเสนอหรือเผยแพร่บนสื่อออนไลน์ อีกทั้งไฟล์มีขนาดเล็กกว่า 16 บิตมากพอสมควร กรณีของรูปแบบไฟล์ 16 ควรอยู่ในฐานะไฟล์งานสั่งพิมพ์ในระดับซีเรียส หรืออยู่ในระหว่างขั้นตอนตกแต่งแก้ไขน่าจะดีกว่าครับ