เวลาปัจจุบันของบทความนี้คือปลายปี ค.ศ. 2024 เป็นปีที่ปัญญาประดิษฐ์เริ่มเข้ามาแทนที่อะไรหลาย ๆ อย่างในชีวิตมากขึ้น แต่ก็ไม่ 100% ที่เราจะยอมรับความคิดมันได้ทั้งหมด
กล้องดิจิตอลเองแม้จะขับเคลื่อนด้วยหน่วยประมวลผลแต่นำเอาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาช่วยตัดสินใจแทนช่างภาพ แต่ถ้าตัวช่างภาพอยากหลุดพ้นข้อจำกัดไปสู่ความอิสระด้านการควบคุม การไม่ปล่อยให้กล้องทำอะไรตามอำเภอใจก็ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องทำอยู่ดี
และบทความนี้ก็ได้กล่าวถึง 2 สิ่งคลาสสิกที่กล้องไม่รู้ และเราต้องบอกเมื่อมันทำผิดพลาดขึ้นมา
ใครที่อ่านบทความของ DozzDIY มาสักระยะคงทราบดีว่านี่คือเนื้อหาที่วกไปวนมา กล้องพยายามทำให้ทุกอย่างจากการมองเห็นและคำนวนเป็นค่าเทากลาง เริ่มต้นด้วยช่างภาพเลือกโหมดวัดแสงที่ถนัดเสียก่อน เช่น โหมดวัดแสงแบบเฉลี่ย ซึ่งกล้องจะทำการนำแสงทั้งหมดในภาพมาคำนวนเพื่อหาค่ากลางของแสงที่ควรจะเป็นของภาพ
สีที่เห็นกล้องจะมองเป็นแค่ค่าขาวดำ
และถ้าผิดไปจากค่าเทาที่ตั้งมาจากโรงงาน กล้องจะปรับเข้าสู่ค่ากลางทันที
ไม่ว่าจะใช้โหมดวัดแสงอะไร สุดท้ายก็มาจบที่แสงในภาพพอดีหรือยัง
คำถามคือโอกาสผิดพลาดเป็นอย่างไร? ให้ลองนึกว่าช่างภาพยืนอยู่ในที่สว่างทั้งฉากหรือมืดทั้งฉาก อิทธิพลของแสงในสถานการณ์นั้นย่อมทำให้กล้องเข้าใจไปแบบนั้นและปรับตัวเองหาค่ากลาง ซึ่ง ‘ผิด’ นั่นเองครับ เราต้องชดเชยแสงให้กับภาพถึงจะได้ค่าที่ถูกต้อง
ปกติเวลาถ่ายภาพเราก็มักจะตั้งกันเอาไว้ว่าให้สมดุลแสงขาวในภาพเป็นแบบอัตโนมัติ เราโชคดีมากขึ้นทุกปีตรงที่กล้องมีความฉลาดมากขึ้นจนคำนวนอุณหภูมิแสงในจุดที่สนใจมาเป็นอย่างแรก มันเป็นเรื่องของแกนสมดุลสองแกนที่ต้องหาความพอดี ทีนี้ปัญหาก็เหมือนกรณีแรกตรงที่ถ้าเราอยู่ในสภาพแสงที่มีอุณหภูมิเข้มข้นไปในทางใดทางหนึ่งขึ้นมาล่ะ? ง่าย ๆ ครับกล้องก็งงเหมือนเดิม
ตัวเลือกในกล้องถ่ายภาพดิจิตอลแม้จะมีแม่แบบมากมาย แต่ก็เป็นเพียงลูกเล่นที่ทำให้อุณหภูมิใกล้เคียง
หรือเพื่อใช้สร้างสรรค์ภาพให้แปลกตาออกไปเท่านั้น
ไม่ว่ากล้องของคุณจะราคาหลักล้านหรือหลักพัน ก็จะมีสิ่งที่ทำได้และไม่ได้อยู่เสมอภายใต้เทคโนโลยีของยุค การเชื่อใจกล้องในฟังก์ชันอัตโนมัติไม่ต่างอะไรกับการปิดข้างตาหนึ่ง คุณจะแน่ใจได้อย่างไรถ้าไม่คอยควบคุม รู้เช่นนี้แล้วก็อย่าลืมยืนยันสิ่งที่เห็นอีกครั้งก่อนลั่นชัตเตอร์นะครับ