โทนภาพที่พบได้บ่อยในปัจจุบัน
ถ้าผงซักฟอกยังถูกชาวบ้านเรียกว่า ‘แฟ้บ’ โดยที่ไม่ได้สนใจเลยว่าสิ่งที่กำลังซื้อยี่ห้ออะไร คงไม่แปลกเช่นเดียวกันที่ชื่อเรียกโทนภาพต่างๆจะถูกเรียกในชื่อที่แปลกออกไปจากผู้ที่ไม่ได้สนใจศึกษาในเชิงลึกว่ามันมีลักษณะพิเศษและเกี่ยวข้องกันเป็นกลุ่มอย่างไร บทความนี้ผู้สอนไม่ได้ระบุว่าคุณจะต้องใช้โปรแกรม Lightroom Classic CC, Lightroom CC, Photoshop CC, Capture One หรือโปรแกรมตกแต่งภาพอื่นใดโดยตรง เพราะถ้าเราเข้าใจสเกลเป็นอย่างดีโทนที่ว่ามาทั้งหมดในบทความก็ถูกสร้างขึ้นมาได้ด้วยความไม่ยากเย็น
‘โทนภาพ’ คืออะไร?

โทนภาพเป็นสิ่งที่สืบเนื่องมาจากการตกแต่งภาพถ่ายโดยตรง จะด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อแก้ไขภาพถ่ายให้สวยงามสมจริงหรือเหนือจริงก็ตามแต่ สิ่งนี้จะเกิดขึ้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงความคงเดิมของภาพถ่ายตั้งต้นให้เปลี่ยนไป อนึ่ง คำว่า ‘โทนภาพ’ หมายถึงความหมายสองกลุ่มใหญ่ในภาพดังนี้

1. ความส่องสว่างของภาพ (Luminosity) : หมายถึง ความสว่าง (Lightness) หรือ ความมืด (Darkness) ซึ่งเป็นภาพรวมของพื้นที่ทั้งหมดในภาพนั้น

2. ความสัมพันธ์ของสีในภาพ (Color Relationships) : หมายถึง ความเกี่ยวข้องกันของสีที่มีในภาพซึ่งถูกใช้งานอย่างมีนัยสำคัญ เช่น พื้นที่ของภาพส่วนใหญ่ประกอบด้วยสีวรรณะร้อน (เช่น แดง, ส้ม และเหลือง) หรือสีวรรณะเย็น (น้ำเงิน, ฟ้า และเขียว)

isai-ramos-121228-unsplash

ถ้ายังดูหรือแต่งโทนภาพไม่เก่ง แนะนำให้เริ่มจากภาพแบบเอกรงค์ก่อน

ยกตัวอย่างเช่น ภาพถ่ายเอกรงค์ (Monochrome) ความส่องสว่างของภาพหมายถึงสีขาวและดำในภาพที่มีอยู่ทั้งหมดตามปกติที่เข้าใจกัน และสีอาจหมายถึงเนื้อกระดาษที่เลือกใช้ เช่นภาพแบบเซเปียก็มีสีน้ำตาลเป็นสีของโทนภาพ เป็นต้น

ขอบเขตของโทนภาพ หรือ ‘พิสัยของโทนภาพ’

ขอบเขตของโทนภาพ หรือ พิสัยของโทนภาพ (Tonal Range) หมายถึง ระยะห่างของความต่างระหว่างจุดที่สว่างมากที่สุดของภาพต่อจุดที่มืดที่สุดของภาพ ใช้อ้างถึงการมีอยู่ของความเปรียบต่างรวมของภาพ หรือ ความเปรียบต่างในระดับจุดเล็กจุดน้อยของภาพ (ให้นึกถึงสเกลที่แบ่งเป็นช่วงๆ) เช่น ระบบ Zone System ของแอนเซล อดัมส์ ที่แบ่งขอบเขตของโทนภาพออกเป็น 11 ช่วงเพื่อแยกแยะรายละเอียดต่างๆในภาพถ่ายขาวดำ

ระบบ Zone System มีไว้เพื่อแยกแยะระดับความสว่างเพื่อความแตกต่างของสิ่งอื่นในภาพได้ดีขึ้น

โทนภาพที่พบได้บ่อยในปัจจุบัน

การมีความคิดเป็นของตัวเองเป็นสิ่งที่ดีเมื่อศึกษาในศาสตร์ใดๆมาอย่างมากพอ แต่อาจใช้ไม่ได้กับสังคมที่ยังไม่เจริญก้าวหน้าในการเสพงานศิลปะ (ในอดีตมีตัวอย่างของผลงานศิลปินที่เพิ่งได้รับการยอมรับหลังจากศิลปินได้เสียชีวิตลงไปหลายปี) คุณอาจจะไม่ได้รับการยอมรับจากกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ชายโดยส่วนใหญ่ถ้าภาพถ่ายของคุณไม่ใช่หญิงสาวโป๊เปลือยหรือสวยน่ารัก เช่นเดียวกัน มีความสำคัญของภาพหลายปัจจัยที่ทำให้ภาพน่าดึงดูดซึ่งโทนภาพเองก็เป็นแค่หนึ่งในกระบวนผลักดันความปรารถนาของผู้ชมภาพให้แสดงออกมา

โทนภาพสามารถแบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่โดยการแยกแยะกลุ่มความส่องสว่างของภาพเป็นเกณฑ์ ซึ่งหลังจากการใช้หลักพิจารณาเหล่านี้ยังสามารถแยกย่อยออกเป็นชื่อความโดดเด่นที่แสดงออกมาเป็นหลักในแบบต่างๆได้อีก

โทนภาพแบบ ‘ติดสว่าง’ (High Key, Overexposure [OverTone])

โทนการแต่งภาพแบบติดสว่างสังเกตได้ง่ายว่ากลุ่มค่าความสว่างของภาพส่วนใหญ่มักเจิดจ้ากว่าการมองเห็นโดยปกติ อันเนื่องมาจากการวัดค่าการรับแสงให้มากกว่าปกติ หรือการเพิ่มสเกลตกแต่งให้สว่างกว่าปกติก็ดี ภาพถ่ายโทนดังกล่าวนิยมใช้ในงานที่ต้องการความสะอาด เช่นงานถ่ายภาพโฆษณาหรือภาพถ่ายสต็อก ดังนั้นสิ่งที่เป็นความสว่างในระดับเทากลางลงไปจนถึงมืดในภาพจึงมีอยู่น้อย

ภาพถ่ายแบบติดสว่าง

โทนภาพแบบ ‘ติดมืด’ (Low Key, Underexposure [UnderTone])

โทนการแต่งภาพแบบติดมืดจะเป็นอะไรที่ตรงข้ามกันทั้งหมดจากการตกแต่งภาพแบบสว่าง ค่าความส่องสว่างของพิกเซลในภาพจะอยู่ต่ำกว่าเทากลางลงมาค่อนข้างเยอะและหลุดไปในโซนมืดเป็นส่วนมาก ในขณะที่ความโดดเด่นคือสิ่งที่สว่างส่วนน้อยของภาพ

ภาพถ่ายแบบติดมืด

ต่อมาเป็นโทนที่ถูกเรียกในชื่อเอกลักษณ์ต่างๆ ส่วนมากจะอ้างอิงตามการเน้นของสีที่ใช้ ซึ่งตรงนี้พลิกแพลงไปในส่วนของการทำให้สว่างหรือมืดก็ได้โดยค่าสียังคงเดิม

โทนภาพแบบ ‘ร้อน’ (Warm Tone)

โทนร้อน คือโทนที่มีสีดังกล่าวนี้ปรากฏอยู่ในภาพ เช่น สีแดง, ส้ม, เหลือง โดยที่มีสิ่งที่ระบุถึงความร้อนและเย็นของสีด้วยมิติต่างๆของสีอีกทีหนึ่ง นอกจากนี้โทนร้อนยังหมายถึงความสว่างเมื่อต้องแปลงเป็นภาพถ่ายขาวดำ

ภาพที่มีสีกลุ่มวรรณร้อนเป็นหลัก

โทนภาพแบบ ‘เย็น’ (Cool Tone)

โทนเย็น คือโทนที่มีสีดังกล่าวนี้ปรากฏอยู่ในภาพ เช่น สีเขียว, ฟ้า, น้ำเงิน โดยที่มีสิ่งที่ระบุถึงความร้อนและเย็นของสีด้วยมิติต่างๆของสีอีกทีหนึ่ง นอกจากนี้โทนเย็นยังหมายถึงความมืดเมื่อต้องแปลงเป็นภาพถ่ายขาวดำ

ภาพที่มีสีกลุ่มวรรณะเย็นเป็นหลัก

และโทนภาพในแบบชื่อเฉพาะ มีการระบุเจาะจงลงไปเลยว่าสีสันและน้ำหนักของภาพแบบนี้เรียกว่าอะไร เป็นโทนภาพที่เมื่อมีการกล่าวถึงแล้วผู้ฟังจะนึกภาพตามได้ยากที่สุดเพราะส่วนมากคนที่พูดก็ยังไม่รู้เลยว่าจะอธิบายยังไงหรือหมายถึงอะไร อาจจะด้วยความพิเศษเฉพาะของโทนภาพเหล่านี้นี่เอง

โทนภาพแบบ ‘ฟิล์มเนกาทีฟ’ (Negative Film)

ฟิล์มแอนะล็อกถูกออกแบบมาให้มีปฏิกิริยาทางเคมีของเนื้อฟิล์มเมื่อโดนแสง โดยที่ในแต่ละรุ่นจากค่ายผู้ผลิตต่างๆก็ให้ความจำเพาะเจาจงของสีเพื่อการใช้งานที่หลากหลาย เช่น ฟิล์มซี่รี่ย์ Portra จากค่ายผู้ผลิต Kodak จะมีกลุ่มสีที่ระมัดระวังไม่ให้กระทบต่อความปกติของสีผิวมนุษย์ ซึ่งแตกต่างจากซีรี่ย์ Ektar ที่มักใช้กับภาพภูมิทัศน์มากกว่าภาพคนเพราะผิวจะอมชมพูแดงมากจนเกินไป

เอกลักษณ์ของฟิล์มเนกาทีฟก็คือเกรน และโทนภาพที่มีการบีบตัวอันเนื่องมาจากคอนทราสต์ซึ่งแสดงช่วงสีที่ทึบโดยส่วนมาก

นอกจากเอกลักษณ์เฉพาะตัวในด้านสีก็ยังมีเรื่องของน้ำหนักภาพที่ก่อให้เกิดคอนทราสต์ในแบบต่างๆด้วย เช่นติดเฟดส่วนมืด หรือมีพิสัยของโทนภาพที่ทำให้ระบุได้ว่าเป็นความพิเศษของฟิล์มตัวนั้นๆ นอกจากนี้ก็ยังมีการกระจายตัวของเกรนที่แปลกออกไป

โทนภาพแบบ ‘ฟิล์มยุคใหม่’ (Modern Film)

ฟิล์มยุคใหม่มีการปรับปรุงในเรื่องของความใสในภาพมากขึ้น สีสันอิ่มตัวขึ้น และยังได้รับการปรับปรุงเรื่องของเกรนภาพที่ละเอียดสวยงามไม่รบกวนสายตามากจนเกินไป เรียกว่าเข้าใกล้ความเป็นดิจิตอลในขณะที่ยังคงเป็นฟิล์มอยู่ เป็นฟิล์มที่ยังสามารถหาซื้อได้ในปัจจุบัน เช่น ฟิล์มจากค่ายผู้ผลิต CineStill

การจะทำโทนภาพแบบโมเดิร์นฟิล์มก็ต้องตัดเอาข้อเสียบางอย่างออกไป เช่น เกรนภาพที่หยาบมากเกินหรือสีสันที่ไม่ค่อยแม่นยำ ใส่เอกลักษณ์ที่ชอบลงไป

โทนภาพแบบ ‘ญี่ปุ่น’ (Japanese Tone)

โทนภาพญี่ปุ่น เกิดจากการรวบรวมเอาลักษณะโทนภาพที่ถูกบันทึกในประเทศญี่ปุ่นด้วยอุปกรณ์ซึ่งเป็นที่นิยมของสังคมในกลุ่มผู้รักการถ่ายภาพนั้นมาเป็นแบบอย่าง ระบุได้ว่าเป็นกล้องฟิล์มที่ใช้ฟิล์มจากค่าย Agfa และ FujiFilm ซึ่งให้สีสันที่อิ่มตัวและมีความเป็นพาสเทลสดใส ในขณะที่เอกลักษณ์ของทั้งสองค่ายนั้นแตกต่างกันตรงที่ Agfa จะให้สีที่หวานและหนักไปทางคู่สี น้ำเงิน-ชมพู ในขณะที่ FujiFilm จะอยู่ฝั่ง เขียว-เหลือง เป็นต้น

โทนญี่ปุ่น ก็คือโทนฟิล์มนิยมที่คนญี่ปุ่มใช้จนเป็นเอกลักษณ์อย่างค่าย Agfa และ FujiFilm นั่นล่ะ มีคนจำนวนมากไม่รู้ว่ามันมาจากไหน
ที่มา : Hinoru Hanada [Flickr]

โทนภาพแบบ ‘สตรีท’ (ไม่สามารถระบุได้)

โทนภาพแบบสตรีท บ้างก็ว่าเป็นการปลอมปนของรายละเอียดที่ดูเกินเลยของภาพอันเนื่องมาจากการยืดขยายสีส่วนเงาในภาพ (High-Dynamic Range แบบปลอมๆ) บ้างก็เป็นภาพประเภทกึ่งติดมืดกรณีที่ภาพถ่ายตั้งต้นจงใจมาเพื่อทำให้แสงในภาพน้อยลงกว่าปกติ ปัจจุบันยังมีความเข้าใจไม่ตรงกันของช่างภาพจำนวนมากว่ามันคือโทนแบบไหนกันแน่

ยิ่งถามคนที่ตามหาโทนภาพสตรีทไปเรื่อยๆ จะพบว่าตัวเองเหมือนวิ่งอยู่ในเขาวงกต คือต่างคนต่างมีคำนิยามของตนเองที่ไม่ตรงกันเลยสักคน
หรือมันจะหมายถึงทุกอย่างเลยไหมนะ

โทนภาพแบบ ‘ฟรุ้งฟริ้ง’ (Fade - Overexposure)

โทนภาพดังกล่าวเป็นที่นิยมในหมู่สาวๆที่ชอบความสวยงามและสว่างสดใส อีกทั้งอารมณ์ที่ได้รับจากภาพนั้นมีความนุ่มนวลเนื่องจากคอนทราสต์ที่ไม่จัดจ้าน องค์ประกอบของโทนภาพลักษณะดังกล่าวจึงแยกออกเป็นสองด้าน โดยที่ส่วนของโทนน้ำหนักจะหมายถึงการไล่พิสัยโทนภาพที่ไม่ครบถ้วนเพื่อความนุ่มนวล และสีสันแบบค่อนไปทางสว่างโดยที่ไม่อิ่มตัวตามความเป็นจริง และยังมีความฟุ้งกระจายของขอบภาพอยู่บ้างตามความนิยมของผู้ตกแต่ง

สว่าง-พาสเทล-และมีความฟุ้งฝ้าอันเกิดจากแสงรั่วของเลนส์ก็พอได้ หรือจะแต่งภาพเอาก็ได้

โทนภาพแบบ ‘โทนของสีต่างๆ’ (Shade of Color)

โทนภาพแบบเน้นไปทีเฉดสีมีความเกี่ยวข้องกับภาพต้นฉบับที่จงใจบันทึกมาโดยตรง เช่น ภาพถ่ายโทนเขียว ก็จะสามารถใช้งานได้ดีกับภาพที่ถูกบันทึกมาโดยมีสีเขียวส่วนใหญ่อยู่ในภาพเช่น ต้นไม้ใบหญ้า การกระจายตัวของสีไปในทิศทางต่างๆเทียบได้กับคู่สีแบบ Analogous ในระดับความสัมพันธ์วงล้อสี เช่นถ้าเป็นสีเขียว ความบิดเพี้ยนที่เป็นไปได้คือ เขียวเหลือง (วรรณะร้อน) และ เขียวน้ำเงิน (วรรณะเย็น) จะไม่แปลกแยกจนถึงกับเลือกใช้เฉดสีอื่นไปเลย

โทนเขียวแบบมีการผสมเฉดสีข้างเคียง เรียกว่า Analogous [ความสัมพันธ์วงล้อสี]

การตกแต่งภาพถ่ายที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพจะเกิดขึ้นหรือไม่นั้นจึงเกิดจากความรู้ความเข้าใจในเครื่องมือและทฤษฎีต่างๆโดยตรง เริ่มตั้งแต่กระบวนการบันทึกภาพเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้ออำนวยต่อธรรมชาติของโทนภาพนั้นไปจนถึงสุดท้ายของกระบวนการ เราจึงพบว่ามีคนมากมายที่อยากทำโทนภาพอยู่เต็มไปหมดแต่กลับว่ามีน้อยคนที่ควบคุมสิ่งเหล่านี้ได้จริงๆ

แม่แบบอัตโนมัติในโปรแกรมตกแต่งภาพอย่าง Lightroom Classic CC หรือ Photoshop CC ที่มีชื่อเรียกต่างๆไม่ว่าจะเป็น ‘พรีเซ็ต’, ‘แอคชั่น’ หรือ ‘เทมเพลต’ จึงเป็นเพียงสิ่งที่ส่งคุณมาได้แค่จุดๆหนึ่งของกระบวนการ ถ้าขาดซึ่งวัตถุประสงค์ความมุ่งมาดต่อผลลัพธ์สุดท้ายว่าจะทำไปเพื่ออะไร โทนภาพก็เป็นได้แค่สิ่งที่ทำให้ผู้รับชมภาพสนใจแบบฉาบฉวยและคงเป็นอะไรไปไม่ได้มากกว่านั้นอยู่นั่นเอง

บทความที่เกี่ยวข้องในหมวดนี้
เกรนกับความคมชัดของภาพถ่าย

ถ้าเพิ่มเกรนน้อยเกินไปภาพก็ดูเหมือนจะไม่มีความแตกต่าง แต่ถ้าใส่มากเกินไปภาพก็แข็งกระด้าง ดังนั้นควรมีเกรนในปริมาณเท่าใดในภาพจึงจะช่วยให้ภาพดูดีขึ้น และใช่ เรากำลังพูดถึงเกรนในมุมที่เกี่ยวข้องกับความคมชัดของภาพถ่ายครับ

ฝึกฝนนิสัยถ่ายภาพด้วยเลนส์ไพร์ม

สิ่งที่ได้จากการใช้เลนส์ทางยาวโฟกัสเดียวไปสักระยะจะส่งผลต่อช่างภาพมือใหม่เพื่อฝึกฝนความอดทนและทลายขีดจำกัดของเลนส์ตัวนั้นได้อย่างไร เราจะได้เจาะลึกถึงการเติบโตด้วยข้อจำกัดเหล่านี้กัน

เราจะตรวจสอบจุดล้นของภาพไปทำไม?

อุปกรณ์รับชมภาพถ่ายไม่ว่าจะเป็นหน้าจอหรือกระดาษต่างก็มีคุณสมบัติในการถ่ายทอดสีสันรวมไปถึงจุดสว่างที่สุดไปยังจุดมืดที่สุดในภาพแตกต่างกัน การแสวงหาความถูกต้องที่สุดในการมองเห็นแม้ว่าจะเป็นเรื่องที่หาความเป้นมาตรฐานได้ยาก แต่เราก็ยังพอรับรู้ได้ว่าอะไรคือขีดสุดของรายละเอียดที่กำลังปรากฏในขณะนั้นก่อนจะนำไปสู่อุปกรณืหรือแหล่งเผยแพร่อื่น ดังที่เรียกว่า จุดล้นของภาพ หรือ Clipping Point ใน Adobe Camera RAW นี้

ร้านค้าออนไลน์ภายใต้ชื่อผู้ก่อตั้ง ‘Dozzo Flamenco’ ที่นี่จะมีผลิตภัณฑ์สื่อการสอนและเทรนนิ่งคลาสระดับคุณภาพเท่านั้น

บทความล่าสุด >>
เกรนกับความคมชัดของภาพถ่าย

ถ้าเพิ่มเกรนน้อยเกินไปภาพก็ดูเหมือนจะไม่มีความแตกต่าง แต่ถ้าใส่มากเกินไปภาพก็แข็งกระด้าง ดังนั้นควรมีเกรนในปริมาณเท่าใดในภาพจึงจะช่วยให้ภาพดูดีขึ้น และใช่ เรากำลังพูดถึงเกรนในมุมที่เกี่ยวข้องกับความคมชัดของภาพถ่ายครับ

การใช้งานคู่สีตรงข้าม

เรื่องของคู่สีรายล้อมรอบตัวเราอยู่ตลอดเวลา และ ‘คู่สีตรงข้าม’ (Complementary Colors) ก็จัดว่าเป็นการเข้าคู่ที่รุนแรงและทรงพลังอย่างมาก หากจะหยิบมาเพื่อใช้งานต้องเรียนรู้และเข้าใจวิธีหลีกเลี่ยงผลลัพธ์เชิงลบบางประการจึงจะเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลวส่วนบบุคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า