ความคมชัดของภาพถ่ายดิจิตอล

การปรับความคมชัดให้กับภาพถ่ายดิจิตอลนับเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้สิ่งใดในภาพ หรือทั้งหมดของภาพเกิดความโดดเด่นชัดเจน อีกทั้งยังขับดันสิ่งเหล่านั้นให้มีรายละเอียดเพิ่มขึ้น ช่างภาพสามารถให้ความคมชัดกับภาพได้ตั้งแต่การเลือกใช้อุปกรณ์ถ่ายภาพไปจนถึงกระบวนการสุดท้ายก่อนสั่งพิมพ์ บทความนี้จึงไม่ใช่ของหลักสูตรใดของ DozzDIY โดยตรงแต่สามารถนำไปทำความเข้าใจกับเครื่องมือได้ทุกชนิด

การปรับคมในภาพถ่ายดิจิตอลนั้นทำงานอย่างไร

ก่อนอื่นผู้เรียนต้องมีความเข้าใจก่อนว่าภาพถ่ายดิจิตอลเกิดจากการรับแสงเป็นจุดพิกเซลของเซ็นเซอร์แล้วถูกประมวลออกมาเป็นจุดสีหลายล้านจุดบนภาพ กระบวนการใดๆก็ตามในเครื่องมือตกแต่งแก้ไขภาพถ่ายดิจิตอลจึงเป็นเครื่องมือที่ทำงานกับพิกเซลเหล่านี้ จะฉลาดมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับความคิดความรัดกุมในการเขียนโปรแกรมขึ้นมาจัดการ

ความคมชัดของภาพนั้นคือการให้ความเปรียบต่าง (Contrast) กับรายละเอียดส่วนนั้นว่ามากหรือน้อยแค่ไหน จากตัวอย่างผู้เรียนจะเห็นได้ว่าภาพที่มีความคมชัดน้อยกว่าหรือภาพที่ยังไม่ถูกกระบวนการปรับคมใดๆกระทำ ความต่างของสีบริเวณขอบนั้นจะค่อนข้างไล่เลี่ยกัน ผิดกับภาพที่ถูกปรับคมซึ่งรายละเอียดที่มองเห็นได้ชัดกว่านั้นเมื่อซูมมาดูใกล้ๆ

unsharpmaskdozz

ทางซ้ายยังไม่ได้ปรับ ทางขวาปรับคมแล้ว
จะเห็นได้ว่ารายละเอียดนั้นดูดีขึ้น

unsharp

เมื่อไม่ปรับคม การไล่สีของพื้นหลังกับตัวหนังสือจะยังดูกลมกลืนกันอยู่

sharp

ภาพหลังจากปรับคมแล้ว ความต่างที่ขอบอักษรชัดขึ้น

original

ไม่มีการปรับคม

mildsharpening

ปรับคมได้พอดี

oversharpening

ปรับคมมากเกินไป

การปรับคมด้วยวิธีการ Unsharp Mask

วิธีการปรับคมแบบ Unsharp Mask เป็นหลักคิดที่หลายๆโปรแกรมที่ทำงานเกี่ยวกับภาพพิกเซลนิยมใช้ ผู้สอนแปลวิธีการปรับคมประเภทนี้ให้จำง่ายๆว่าเป็นกระบวนการปรับคมแบบ “ไม่ปรับคมในส่วนที่ซ่อนไว้” สามารถทำความเข้าใจได้ว่าภาพๆหนึ่งไม่ได้ต้องการถูกปรับคมในทุกอณูของรายละเอียด เช่น ภาพถ่ายบุคคล รายละเอียดของส่วนริ้วรอยเล็กๆน้อยนั้นถ้าถูกปรับคมขึ้นมาใบหน้าของแบบจะมีรายละเอียดที่ไม่พึงประสงค์มากยิ่งขึ้น ทำให้การปรับคมแบบ Unsharp Mask มีเครื่องมือเอาไว้จำกัดขอบเขตเฉพาะสิ่งที่ต้องการ และละสิ่งที่ไม่ต้องการออกไปเนื่องจากผลกระทบของฟังก์ชั่นดังกล่าว

สเกลที่มักพบในเครื่องมือ Unsharp Mask

ค่าที่มีให้ปรับแต่ง การทำงานของสเกล
รัศมี (Radius) ควบคุมความหนาขอบของสิ่งที่มีในภาพ ว่าจะกำหนดไว้มากแค่ไหนต่อการส่งผลกระทบจากการปรับคม ถ้าค่ารัศมีถูกกำหนดเอาไว้น้อย ความละเอียดของการปรับคมจะมีมากขึ้น
ความเข้มข้นของการปรับคม (Amount) ควบคุมความแข้งกระด้างของความเปรียบต่างอันจะส่งผลให้ความคมชัดของภาพมีความรุนแรงมากหรือน้อย เป็นสเกลที่ส่งผลไปยังการควบคุมต่างๆทั้งหมดของเครื่องมือ
การบดบัง (Threshold หรือ Masking) สเกลนี้จะเริ่มวิเคราะห์จุดที่มีความเปรียบต่างของการไล่สี “ต่ำ” ที่สุดมาเป็นอันดับแรก และเมื่อปรับค่ามากขึ้นเรื่อยๆขอบเขตของพื้นที่บดบังจึงเริ่มขยายมากขึ้น เป็นสเกลที่ถือเป็นรูปแบบสำคัญของวิธีการ Unsharp Mask
รายละเอียด (Detail) บางโปรแกรมที่มี Unsharp Mask อาจจะมีหรือไม่มีสเกลตัวนี้เพราะมักเป็นตัวเลือกเสริม เป็นการให้ค่าความเปรียบต่างอีกน้ำหนักหนึ่งกับความต่างสีที่ขอบในวัตถุเล็กๆน้อยๆในภาพ ทำให้ภาพมีรายละเอียดเพิ่มเติมเข้ามา

unsharpmask

Unsharp Mask ใน Photoshop CC

ลำดับขั้นตอนในการปรับคม

ดังที่ได้กล่าวไว้ในตอนต้นว่าผู้เรียนสามารถกำหนดความคมชัดได้ตั้งแต่ต้นทาง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้กล้องหรือเลนส์ ลำดับในการสร้างสรรค์ความคมชัดจึงถูกอธิบายออกมาว่ามีรูปแบบและประเภทในการเรียกชื่อหลักๆว่าอย่างไรบ้าง ความรู้ความเข้าใจในการปรับคมต่างๆนี้จะมีประโยชน์เมื่อต้องนำงานไปใช้ในแต่ละประเภทเพราะจะทำได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

1. Capture Sharpening

ความคมชัดที่ถูกกำหนดออกมาให้เป็นความคมชัดตั้งต้นของภาพวัตถุดิบใดๆก็ตาม ยกตัวอย่างเช่นไฟล์ภาพดิบ (ไฟล์ RAW) ที่ไม่มีการปรับคมใดๆเลย อาจจะเนื่องมากจากฟิลเตอร์กรองรายละเอียดซ้ำซ้อน (Anti-Aliasing Filter) หรือซอฟท์แวร์ที่ลดความรุนแรงลายขอบจากทางผู้ผลิตกล้อง ความเปรียบต่างของเม็ดสีที่ขอบวัตถุจึงค่อนข้างต่ำมาก ในโปรแกรม Lightroom CC จะถูกตั้งค่า Amount ตั้งต้นไว้ที่ 25 หน่วยซึ่งปรับแต่งเองได้ แต่จะไม่สามารถกำหนดค่าเหล่านี้ได้เลยหากบันทึกภาพออกมาในรูปแบบของนามสกุล JPEG

lightroomcapture

ใน Lightroom CC จะมีการกำหนดความคมเริ่มต้นที่ 25 หน่วยสำหรับไฟล์ภาพดิบ
แต่ถ้าถ่ายมาเป็น JPEG จะมีค่าเป็น 0 เพราะถูกปรับคมมาด้วยซอฟท์แวร์กล้องแล้ว

2. Creative Sharpening หรือ Local Sharpening

หมายถึงการปรับคมใดๆที่ผู้ปรับแต่งแก้ไขเลือกได้อย่างอิสระจากผู้ผลิตโปรแกรมตกแต่งแก้ไขภาพหลากหลายค่ายหลากหลายวิธีการด้วยกัน ยกตัวอย่างเช่น ช่างภาพ A ใช้โปรแกรม Lightroom ในการปรับคมให้กับภาพ แต่ช่างภาพ B กลับเลือกใช้วิธี Smart Sharpen ในโปรแกรม Photoshop CC ในการปรับคมเพราะถนัดวิธีการนี้มากกว่า หรือช่างภาพ C ที่ใช้ Photoshop CC เหมือนกับช่างภาพ B แต่กลับที่จะใช้วิธีการ Unsharp Mask ในการปรับคมควบคู่กับการซ้อนเลเยอร์ ทั้งหมดที่กล่าวมานี้คือ Creative Sharpening ที่ขึ้นอยู่กับว่าจะสร้างสรรค์ภาพออกไปแบบใด

localsharpening

สิ่งที่เน้นในภาพนี้คือตัวแบบ การปรับคมเฉพาะคนนั้นทำใน Photoshop สะดวกกว่า
ผู้สอนก็เลยปรับคมแล้วใช้ Layer กับ Masking ผสมกันเพื่อให้ตัวคนชัด สิ่งอื่นๆปล่อยตามปกติ

3. Output Sharpening

คือการปรับคมขั้นสุดท้ายให้เหมาะสมกับแหล่งเผยแพร่ให้ถูกต้อง เพราะไฟล์ดิจิตอลนั้นจำเป็นที่จะต้องถูกปรับให้เหมาะสมก่อนทำไปใช้ทุกครั้งไม่ว่าจะเป็นที่ใดๆก็ตาม ยกตัวอย่างเช่นการปรับความคมที่พอดีกับจอภาพอาจจะไม่พอดีเมื่อถูกสั่งพิมพ์ออกมาทางเครื่องพิมพ์ปลายทางก็ได้ การปรับคมก่อนออกไปสู่อุปกรณ์หรือการใช้งานแต่ละอย่างจึงมีความแตกต่างกันออกไป

print

ต้องปรับคมเพิ่มขึ้นกว่าปกติเพราะภาพจะเบลอลงอีกเมื่อสั่งพิมพ์บนกระดาษ
และศึกษารายละเอียดเครื่องพิมพ์รวมไปถึงการตั้งค่าให้ดีนะครับ

การปรับแต่งความคมชัดให้กับภาพถ่ายดิจิตอลผู้เรียนจึงต้องเข้าใจความแตกต่างในการปรับคมแต่ละประเภทอย่างละเอียด เพื่อที่จะทำให้ภาพระหว่างกระบวนการเกิดความเสียหายน้อยที่สุดและถูกต้องมากที่สุดเมื่อสู่กระบวนการปลายทาง

คำแนะนำในการปรับความคมชัด

  • การปรับคมเป็นการทำให้พิกเซลส่วนเสียหายอย่างถาวร อย่างไรก็ดีหากภาพระหว่างกระบวนการถูกเซฟแยกไว้หรือเลี่ยงไปใช้เลเยอร์ใน Photoshop หรือไฟล์ RAW ก็จะช่วยปกป้องไฟล์ต้นฉบับเอาไว้ได้อีกทางหนึ่ง

  • ไฟล์ภาพดิบ RAW หรือไฟล์ TIFF นั้นเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดก่อนปรับคมเพราะไม่ถูกกระบวนการ Capture Sharpening บังคับแบบ JPEG ซึ่งสูญเสียรายละเอียดมาพอสมควรแล้ว อีกทั้งไฟล์ก็ไม่ยืดหยุ่นเทียบเท่าไฟล์ภาพดิบ

  • เครื่องมือปรับคมทั่วไปบางครั้งก็ไม่ได้ช่วยให้ภาพที่ถ่ายมาเบลอดีขึ้นแต่อย่างใด ต้องเลือกใช้เครื่องมือให้ถูกต้องเช่น Shake Reduction จะเหมาะกับภาพถ่ายเบลอมากกว่าเครื่องมือปรับคมหลายๆตัวใน Photoshop

  • พึงระมัดระวังการใช้เลนส์บางชนิดที่ชอบให้ในลักษณะที่ชัดเฉพาะตรงกลางและขอบเบลอออกไปเป็นวงกลม เนื่องจากว่าหากผู้เรียนจัดองค์ประกอบให้แบบอยู่ด้านข้างเมื่อไหร่ การปรับคมแบบเท่าๆกันในบางส่วนจะได้ผลลัพธ์ที่ไม่ดีนัก ต้องใช้การปรับคมที่ยากลำบากขึ้นกว่าปกติ

  • มีสเกลหลายตัวที่ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวกับการปรับคมแต่กลับทำให้ภาพคมขึ้น เช่นสเกล Contrast ที่ทำให้สีเข้มและขอบคมขึ้นเล็กน้อย หรืออย่าง Clarity ใน Adobe Camera RAW (Photoshop CC) หรือ Lightroom CC ที่ทำให้ภาพชัดเจนขึ้นและยังคมขึ้น นอกจากนี้ก็ยังมีเครื่องมือแก้การคลาดสีในกล่องเครื่องมือ Chromatic Abberation ที่ไม่ได้แก้อาการขอบม่วงขอบเขียวเพียงอย่างเดียวแต่ยังทำให้ภาพคมขึ้นมาอีก เพราะทั้งหมดนี้จะส่งผลให้เราต้องปรับคมน้อยลงตามไปด้วย

  • ภาพที่คมมากเกินไปในบางครั้งเราก็ลดผลลัพธ์เหล่านี้ลงได้บ้างด้วยเทคนิค Fade Gaussian Blur หรือซ้อนเลเยอร์แล้วทำ Gaussain Blur แล้วซ้อนเลเยอร์ด้วยเทคนิคผสานเลเยอร์แบบ Darken ใน Photoshop CC

  • แสงฮาโล (Halo Light) มักเกิดจากการปรับคมด้วยค่ารัศมีขอบที่หนา อาการจะเหมือนกับมีเส้นสีขาวอยู่รอบๆเส้นที่โดนผลการปรับคม พิจารณาค่า Radius ดีๆในการใช้งาน หรือตรวจสอบประเภทของภาพว่ามีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหนเพื่อที่จะเลือกใช้ได้อย่างถูกต้อง

  • หลายคนอาจจะชอบภาพที่มีรายละเอียดสูงโดยการเพิ่มความคมชัดด้วยค่ารัศมีที่ต่ำและใช้ค่ารายละเอียดมากๆ ให้พิจารณาว่ารายละเอียดที่สูงมากกว่าปกติมักสร้างความรำคาญสายตาเวลาชมภาพได้เหมือนกัน มีหลายวิธีที่เพิ่มรายละเอียดภาพโดยที่ไม่ทำให้ภาพกระด้าง ยังไงลองศึกษากระบวนการอื่นๆนอกเหนือจากการใช้ความคมชัดสร้างประโยชน์ในลักษณะนี้ด้วยครับ

บทความที่เกี่ยวข้องในหมวดนี้
เกรนกับความคมชัดของภาพถ่าย

ถ้าเพิ่มเกรนน้อยเกินไปภาพก็ดูเหมือนจะไม่มีความแตกต่าง แต่ถ้าใส่มากเกินไปภาพก็แข็งกระด้าง ดังนั้นควรมีเกรนในปริมาณเท่าใดในภาพจึงจะช่วยให้ภาพดูดีขึ้น และใช่ เรากำลังพูดถึงเกรนในมุมที่เกี่ยวข้องกับความคมชัดของภาพถ่ายครับ

ฝึกฝนนิสัยถ่ายภาพด้วยเลนส์ไพร์ม

สิ่งที่ได้จากการใช้เลนส์ทางยาวโฟกัสเดียวไปสักระยะจะส่งผลต่อช่างภาพมือใหม่เพื่อฝึกฝนความอดทนและทลายขีดจำกัดของเลนส์ตัวนั้นได้อย่างไร เราจะได้เจาะลึกถึงการเติบโตด้วยข้อจำกัดเหล่านี้กัน

เราจะตรวจสอบจุดล้นของภาพไปทำไม?

อุปกรณ์รับชมภาพถ่ายไม่ว่าจะเป็นหน้าจอหรือกระดาษต่างก็มีคุณสมบัติในการถ่ายทอดสีสันรวมไปถึงจุดสว่างที่สุดไปยังจุดมืดที่สุดในภาพแตกต่างกัน การแสวงหาความถูกต้องที่สุดในการมองเห็นแม้ว่าจะเป็นเรื่องที่หาความเป้นมาตรฐานได้ยาก แต่เราก็ยังพอรับรู้ได้ว่าอะไรคือขีดสุดของรายละเอียดที่กำลังปรากฏในขณะนั้นก่อนจะนำไปสู่อุปกรณืหรือแหล่งเผยแพร่อื่น ดังที่เรียกว่า จุดล้นของภาพ หรือ Clipping Point ใน Adobe Camera RAW นี้

ร้านค้าออนไลน์ภายใต้ชื่อผู้ก่อตั้ง ‘Dozzo Flamenco’ ที่นี่จะมีผลิตภัณฑ์สื่อการสอนและเทรนนิ่งคลาสระดับคุณภาพเท่านั้น

บทความล่าสุด >>
เกรนกับความคมชัดของภาพถ่าย

ถ้าเพิ่มเกรนน้อยเกินไปภาพก็ดูเหมือนจะไม่มีความแตกต่าง แต่ถ้าใส่มากเกินไปภาพก็แข็งกระด้าง ดังนั้นควรมีเกรนในปริมาณเท่าใดในภาพจึงจะช่วยให้ภาพดูดีขึ้น และใช่ เรากำลังพูดถึงเกรนในมุมที่เกี่ยวข้องกับความคมชัดของภาพถ่ายครับ

การใช้งานคู่สีตรงข้าม

เรื่องของคู่สีรายล้อมรอบตัวเราอยู่ตลอดเวลา และ ‘คู่สีตรงข้าม’ (Complementary Colors) ก็จัดว่าเป็นการเข้าคู่ที่รุนแรงและทรงพลังอย่างมาก หากจะหยิบมาเพื่อใช้งานต้องเรียนรู้และเข้าใจวิธีหลีกเลี่ยงผลลัพธ์เชิงลบบางประการจึงจะเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลวส่วนบบุคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า