การถ่ายภาพอาหารด้วยแสงธรรมชาติเราต้องควบคุมความเป็นอิสระที่มากเกินไปของแสงด้วยมุมกล้อง เพราะแม้แสงกลางวันที่สว่างไสวนั้นมีความอิสระสวยงามแต่ก็ไม่คงที่ได้ง่ายเหมือนแสงประดิษฐ์ บทความนี้จึงเป็นความรู้ความเข้าใจสำหรับผู้ถ่ายภาพที่ผ่านพื้นฐานมาจากหลักสูตรระดับล่างของ DozzDIY แล้วทุกท่าน
แสงเพียงจุดเดียวจากดวงอาทิตย์ที่ผ่านชั้นกรองของเมฆที่กระจายตัวบนท้องฟ้านั้นเปรียบเสมือนแผ่นกรองความแรงให้นุ่มนนวลและมีขนาดใหญ่ ในหลักการจัดแสงนั้นแหล่งกำเนิดยิ่งมีขนาดใหญ่มากเท่าไรภาพที่ได้ยิ่งนุ่มนวลงดงาม และถ้าหากผู้บันทึกภาพมีทักษะประสบการณ์ที่สมบูรณ์พร้อมแล้ว แค่แหล่งกำเนิดแสงเพียงจุดเดียวก็สามารถควบคุมความอยากอาหารของคนได้อย่างอยู่หมัด
ก่อนจะคิดไปจัดแสงสองสามจุดนั้น คิดหรือยังว่าเราควบคุมแสงง่ายๆแค่จุดเดียวได้ดีแค่ไหนกัน
แสงจากธรรมชาติ (Natural Light)
ดวงอาทิตย์นับเป็นแหล่งกำเนิดแสงที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ส่วนตัวแล้วผมชอบแสงจากดวงอาทิตย์เพราะไม่ค่อยได้ใช้แฟลช (ก็ถูกอีกนั่นล่ะ) ลักษณะของแสงที่ได้จะมีความนุ่มนวล, สว่างไสว, อิสระและใช้งานง่าย แต่ก็มีข้อจำกัดอยู่ตรงที่ว่าผู้เรียนต้องเลือกใช้ในช่วงเวลาหรือสภาพแสงที่เหมาะสมจริงๆเท่านั้นจึงจะเกิดผลลัพธ์ที่ดีได้
สไตล์การถ่ายภาพลักษณะนี้จึงเหมาะสำหรับผู้ที่พกกล้องเพียงอย่างเดียวไปร้านอาหาร เหตุผลหนึ่งร้านก็คงไม่ได้ต้องการให้เราพกแฟลชเข้าไปในร้านอยู่แล้วด้วย
แสงทำให้เกิดส่วนมืดและส่วนสว่าง เปิดเผยความจริงและสิ่งหลบซ่อน จงควบคุมให้ดี
1/160sec | f/2.8 | ISO100, Sigma DP1 Merrill
แล้วทำไมแสงหลังจากทางด้านข้างนั้นถึงดีที่สุดล่ะ
การเลือกใช้แสงที่อยู่ทางด้านหลังทำให้เกิดแสงขอบที่วัตถุ หรือที่เรียกว่าริมไลท์ (Rim-Light) นอกจากแสงแบบนี้จะช่วยเร่งให้เกิดความแวววาวที่ขอบวัตถุแล้วยังช่วยให้องค์ประกอบที่มีลักษณะบางหรือค่อนข้างจะโปร่งใสมีความเจิดจรัสขึ้นมา เช่นใบโหระพาหรือผักชีบนจาน (ตำแหน่ง A หรือ B)
มุมต่างๆที่เกิดขึ้นจากแสงหลังให้ค่าความเปรียบต่างที่ไม่เหมือนกัน อย่ากังวลในเรื่องของความหนักเบาของแสงมากจนเกินไปนัก ให้พิจารณาว่าแสงเหล่านั้นถ่ายทอดในสิ่งที่ต้องการได้หรือเปล่าก็พอ
แสงเข้าทางหน้าวัตถุก็ไม่ได้เลวร้ายหรอกครับ แต่มันไม่สวยน่ะสิ
แสงเข้าทางด้านหลังแบบไม่มีแผ่นสะท้อนลบเงาด้านหน้า
ข้อควรระวังเป็นอย่างยิ่งก็คือการหลีกเลี่ยงใช้แฟลชหัวกล้องอย่างเด็ดขาดเพราะจะทำให้ภาพถ่ายอาหารของคุณนั้นดูเรียบแบนไร้มิติ อันนี้ที่จริงแล้วบทความนี้คงไม่บังคับว่าคุณจะต้องเลือกใช้แสงแบบไหน มันเป็นสไตล์ที่เราเลือกและออกแบบเองได้
แสงหลังแบบ 45 องศาพร้อมกับกระดาษสะท้อนเงานิดหน่อย
การยกกล้องให้สูงขึ้นช่วยหลีกเลี่ยงอาการแสงทึบที่เกิดจากการย้อนแสงมากๆได้
ถ้าไม่ใช่แสงอาทิตย์ต้องพิจารณาการใช้งานแสงและควบคุมกล้องให้ดี
สิ่งที่ควรปฏิบัติเมื่อต้องถ่ายภาพอาหารของตัวเองในร้านอาหาร
-
ผู้เรียนต้องแน่ใจเสียก่อนว่าร้านไม่มีกฏหรือข้อห้ามในการถ่ายภาพอาหารของตัวเอง หรือต้องทราบให้ได้ก่อนว่าถ่ายอะไรในร้านได้บ้าง เช่นถ่ายได้แต่อาหารแต่ไม่สามารถถ่ายเชฟได้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นเช่นนั้น
-
การโทรจองแล้วบอกล่วงหน้าไปเลยก็ดีเหมือนกัน เพราะเชฟจะได้ยอมรับเสียแต่เนิ่นๆว่าผู้เรียนจะสามารถทำได้หรือไม่ได้ ซึ่งถ้าหากเชฟเองก็สนุกกับการที่เราจะช่วยนำเสนอแล้ว เขาอาจจะตกแต่งอาหารให้ดีก่อนนำมาเสิร์ฟเราได้อีกด้วย
-
มุมที่เลือกนั่งควรเป็นมุมที่หันทางด้านข้างให้กับอาหาร อาจจะเยื้องมาทางด้านหลังเล็กน้อย เลือกระยะห่างระหว่างแหล่งกำเนิดแสงให้ดีเช่นกระจกบานใหญ่จะช่วยกรองแสงให้นุ่มมากยิ่งขึ้น
-
พึงระวังเรื่องของแหล่งกำเนิดแสงที่มีมากกว่าหนึ่งจุดและต่างอุณหภูมิกัน เช่นแสงจากเทียนทำให้อาหารของผู้เรียนเหลืองหรือไม่ แล้วจะแก้ไขอะไรได้อีกบ้างเมื่อต้องตกอยู่ในสถานการณ์นั้น
-
กรณีที่ผู้เรียนไม่สามารถเลือกได้เลย ควรทำความเข้าใจเรื่องการถ่ายภาพในที่มืดอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยการทำความเข้าใจเรื่องของฮิสโตแกรม การลดคลื่นสัญญาณรบกวน และโปรแกรมตกแต่งแก้ไขเตรียมไว้ให้ดี
-
บ่อยครั้งที่แสงที่เกิดจากการถ่ายย้อนทำให้รายละเอียดด้านหน้านั้นมืดลง ผู้เรียนไม่จำเป็นต้องซื้อแผ่นสะท้อน (Reflector) ติดตัวไป แต่ให้เลือกใช้สิ่งรอบข้างให้เกิดประโยชน์ได้ เช่นกระดาษสีขาวจากแผ่นทิชชู่ กระจกจากตลับแป้ง หรือเมนูรายการอาหารที่มีลักษณะสะท้อนแสงด้านหลังได้ สิ่งพวกนี้ช่วยลดภาระของการเปิดเงาที่โปรแกรมตกแต่งแก้ไขภาพได้เป็นอย่างดี