ช่วงแรกๆที่ผู้สอนเริ่มเรียนรู้การตกแต่งภาพ สิ่งที่ติดมากับการศึกษาพฤติกรรมฮิสโตแกรมก็คือเรากลัวที่จะมีอะไรในภาพหลุดหายไป กล่าวง่ายๆคือร้อนวิชาจนลืม ‘ความสมจริงของภาพ’ นั่นเองครับ ความสมจริงของภาพไม่ได้เกี่ยวข้องกับคำว่า ‘ความสมบูรณ์แบบของภาพ’ เลยแม้แต่น้อย เราอาจจะมีภาพที่สวยงามสมบูรณ์ในทุกรายละเอียด แต่มันอาจจะไม่ได้ตรงตามความเป็นจริงเลยก็ได้
ส่วนที่หลุดหายไปของภาพเริ่มแจ้งเตือนได้ตั้งแต่หลังกล้องโดยที่คุณสมบัติการแจ้งเตือนมักเป็นฟังก์ชั่นที่เปิดปิดได้จากในตัวกล้องเอง (หาอ่านได้จากคู่มือของกล้องตัวนั้น) และดูได้อีกครั้งในคุณสมบัติของโปรแกรมตกแต่งภาพถ่ายอย่าง Adobe Lightroom ที่เรียกว่า Clipping Point เพื่อตรวจสอบว่าจุดหลุดรายละเอียดได้หลุดออกไปกี่มากน้อย จะได้พิจารณาเก็บกู้กันในขั้นตอนต่อไป
สีน้ำเงินแทนความมืดจนไม่มีรายละเอียด และสีแดงแทนความสว่างจนไม่มีรายละเอียด
สิ่งที่ง่ายที่สุดในการถ่ายภาพแบบมุ่งเน้นความสมจริง ทำได้โดยให้เอาความจริงของสถานการณ์มาคิดด้วยทุกครั้งเวลาวัดแสง เพราะเราคงไม่สามารถทำให้สีที่สว่างหรือมืดกว่าค่าเทากลางของกล้องคงความสว่างระดับนั้นเอาไว้โดยไม่ชดเชยแสงเลย (ด้วยพฤติกรรมของกล้องที่มักทำให้จุดวัดแสงมีค่าเทากลางตลอดเวลา) ถ้าต้องถ่ายภาพให้มีความสมจริง ควรคำนึงถึงการชดเชยแสงเป็นสำคัญ
ค่าที่เหมาะสมเองก็อาจจะไม่ใช่ค่าที่ดีที่สุด ให้พิจารณาตามความเหมาะสมของภาพที่ต้องการเพื่อการนำไปเข้าสู่กระบวนการแต่งภาพด้วย
มีสองกรณีด้วยกันคือ ภาพที่สว่างเกินไปและมืดเกินไปจนรายละเอียดขาดหาย ถึงแม้ว่าเราจะใช้สเกลในโปรแกรมตกแต่งภาพถ่ายกู้กลับมาไม่ได้เลย ก็ให้ใช้เส้นเคิร์ฟกำหนดลิมิตของภาพใหม่ โดยที่ภาพสว่างเกินไปจะใช้ U-Curve แบบคว่ำ และภาพมืดเกินไปจะใช้ U-Curve แบบหงาย ผลลัพธ์ที่ได้จะทำให้ภาพนุ่มนวลลงจากที่เคยแข็งเพราะความเปรียบต่างแสงที่มากเกินไป
ภาพสว่างจนล้นให้แก้ด้วย U-Curve แบบคว่ำ
ภาพมืดจนล้นให้แก้ด้วย U-Curve แบบหงาย
และทั้งหมดนี้คือวิธีการพิจารณาการถ่ายภาพแบบเน้นความสมจริงรวมไปถึงแนวทางการชดเชยส่วนที่ขาดหายไปด้วยอารมณ์ของภาพในกรณีที่รายละเอียดกู้กลับมาไม่ได้ด้วยโปรแกรมตกแต่ง อย่าลืมว่าการจะแก้ไขทุกอย่างที่ไม่สมบูรณ์ในภาพนั้นจำเป็นต้องมีความรู้และทักษะในการใช้โปรแกรมเป็นอย่างดีจะช่วยได้มาก