ภาพถ่ายคุณภาพสูงมีปัจจัยอะไรบ้าง?

การถ่ายภาพให้มีคุณภาพสูงมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ถือเป็น 1 รากฐานสำคัญที่ทางผู้สอนและทีมงาน DozzDIY พยายามปลูกฝังให้กับผู้เรียนและผู้ที่เข้ารับการฝึกฝนจากเราจนเป็นความเคยชิน ดังที่ผู้เรียนในหลักสูตร ‘หลักการถ่ายภาพพื้นฐาน’ (Basic Photography : Newbie QuickStart) เพราะหากเรามีรากฐานที่แข็งแรงเมื่อมีโอกาสต่อยอดความรู้ในลำดับต่อๆไปจะเป็นเรื่องที่ง่ายดายขึ้นมาก บทความนี้จึงมีเนื้อหาที่สำคัญซึ่งจะช่วยปรับปรุงให้กับผู้ที่ไม่ทราบมาก่อน และช่วยทบทวนความรู้ความเข้าใจกับผู้ที่เคยเรียนกับเราไปแล้ว
ภาพถ่ายคุณภาพคืออะไร?

คำว่าคุณภาพของภาพถ่ายภาพหนึ่ง มีความหมายจากปัจจัยเกี่ยวข้องอยู่มากมายหลายเรื่อง เช่น ภาพถ่ายที่จะนำไปพิมพ์ภาพได้คมชัดครบถ้วนในรายละเอียดก็ต้องกำหนดค่าต่างๆให้เหมาะสมต่อประเภทกระดาษ, ภาพถ่ายที่เหมาะสำหรับการเผยแพร่ต่อสื่อออนไลน์ก็มีความจำเป็นด้านความคมชัดปรับปรุงและการปรับขนาด วัตถุดิบที่สำคัญต่อการนำไปใช้ในด้านต่างๆก็คือเราต้องมีข้อมูลในภาพให้มากที่สุดตั้งแต่หลังกล้อง และทุกอย่างแจกแจงออกมาได้เป็นหัวข้อดังต่อไปนี้

ภาพถ่ายสะอาด, รายละเอียดสูง, สีสันอิ่มตัวและแทบไม่มีคลื่นสัญญาณรบกวนในภาพ แถมยังคมชัดในจุดโฟกัสอย่างแม่นยำ ใครๆก็ทำได้หากมีการควบคุมกล้องที่ดี

การบันทึกภาพถ่ายให้มีคุณภาพ

การตระเตรียมภาพวัตถุดิบเพื่อให้ได้ภาพที่มีลักษณะตามที่ว่ามา เริ่มตั้งแต่การกำหนดค่าความไวแสงที่ให้ได้ไฟล์ภาพคุณภาพสูงสุดเป็นอันดับแรกก่อน จากนั้นจึงปรับค่าการวัดแสงให้ได้ภาพต้นฉบับที่มีวัตถุในภาพเกิดความโดดเด่น เช่น อาจจะวัดแสงแบบจุดหรือแบบเฉลี่ยแล้วชดเชยแสงโดยคำนึงถึงรายละเอียดในภาพด้วยฮิสโตแกรม

1. สภาพของแสงที่เหมาะสม

สภาพแสงที่ดีเพียงพอต่อขอบเขตความสามารถกล้องถ่ายภาพดิจิตอลนั้นจะช่วยให้เรามีวัตถุดิบตั้งต้นที่ดีตามไปด้วย วิธีการดูว่าแสงนุ่มหรือไม่ให้ดูว่าในบริเวณนั้นได้รับแสงจนเกิดเงาดำแข็งหรือเปล่า หรือว่าส่งผลกระทบต่อวัตถุที่เราต้องการโฟกัสในภาพมากน้อยแค่ไหน ง่ายๆเริ่มจากการถ่ายภาพในร่มเพราะจะไม่มีเงาทึบ หรือช่วงเวลาฟ้าหลัว เป็นต้น

แสงนุ่มสังเกตได้ว่าเงาของวัตถุใดๆในภาพจะไม่แข็ง ไม่มีเงาดำทึบพาดผ่าน มือใหม่ควรฝึกบันทึกภาพในแสงประเภทนี้ให้ดีเสียก่อน

2. การวัดแสงที่ถูกต้อง

ปกติแล้วผู้สอนจะเลือกวัดแสงแบบเฉลี่ยแล้วชดเชยรายละเอียดเนื่องจากว่าความแปรปรวนในการวัดแสงมีน้อยกว่าการวัดแสงเฉพาะจุด (แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการวัดแสงแบบใดแบบหนึ่งจะดีที่สุด) หลักการง่ายๆคือการดูว่าสิ่งที่มีในภาพได้รับแสงเพียงพอต่อความต้องการของเราแล้วหรือยัง

ควรเลือกโหมดวัดแสงให้เหมาะสมกับสถานการณ์จะช่วยเอื้อประโยชน์ให้เก็บภาพได้ง่ายมากขึ้น

3. ค่าความไวแสงที่ให้คลื่นสัญญาณรบกวนต่ำสุด

ความไวแสง หรือ ISO จะมีผลกระทบต่อการถ่ายภาพสองอย่าง นั่นคือการทำให้เซ็นเซอร์ใช้เวลารับแสงน้อยลงซึ่งสะดวกมากขึ้นเวลาที่ต้องถ่ายภาพในที่มืดหรือวัตถุเคลื่อนไหวเร็ว ผลกระทบอีกทางที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ก็คือคลื่นสัญญาณรบกวนที่ปรากฏในภาพ การเริ่มต้นควรใช้ค่าความไวแสงต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้น่าจะดีกว่า

แม้อาจไม่จริงในบางกรณี นิสัยในการใช้ ISO ที่เหมาะสมที่สุดก็ควรฝึกเอาไว้ให้เคยชิน

4. การพิจารณาจุดหลุดรายละเอียดที่เหมาะสม

ส่วนนี้เกี่ยวข้องการการพิจารณาฮิสโตแกรมเพื่อดูว่ามีส่วนที่ดำมากเกินไปหรือขาวมากเกินไปจนกล้องไม่สามารถเก็บรายละเอียดในจุดนั้น โดยที่อาจจะพิจารณาถึงความจำเป็นของส่วนที่หายไปว่าจำเป็นต่อสาระสำคัญในภาพมากน้อยแค่ไหน เช่น แสงสว่างของหลอดไฟ หรือผนังสีดำทึบ เพราะนั่นเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ที่จะกู้รายละเอียดกลับมาอยู่แล้ว

พิจารณาเอาเองว่าสีแดงๆในภาพซึ่งหมายถึงท้องฟ้าที่หายไปนั้นสำคัญต่อภาพหรือไม่ กู้กลับมาด้วยโปรแกรมแต่งภาพได้หรือไม่

5.ความคมชัดจากค่ารูรับแสงที่ดีที่สุด

เลนส์ถ่ายภาพแต่ละตัวมีค่าความคมชัดที่ดีที่สุดแตกต่างกันออกไป เรียกว่า Sweet Spot แต่นั่นก็ไม่นับว่าเป็นค่ารูรับแสงที่ควรใช้ในภาพทุกๆภาพที่ถ่าย ขอเพียงแค่เราใช้ค่ารูรับแสงที่เหมาะสมต่อวัตถุในภาพๆนั้นเป็นใช้ได้ พึงระวังการใช้ค่ารูรับแสงกว้างที่สุดในภาพกับเลนส์บางตัวที่อาจทำให้ภาพฟุ้งมากเกินไปจนขาดความคมชัด

ความรู้และปัจจัยที่จำเป็นต่อการบันทึกภาพให้มีคุณภาพ

นอกจากความรู้ในการควบคุมอุปกรณ์เพื่อให้ได้มาซึ่งไฟล์ภาพที่เหมาะสมผู้เรียนก็ยังต้องมีความพร้อมในภาคทฤษฎีและการใช้งานโปรแกรมตกแต่งแก้ไขได้อย่างคล่องแคล่วเพื่อทำให้ภาพถ่ายสวมงามสมบูรณ์ตามที่ต้องการ

กล้องมองทุกอย่างเป็นเทากลาง

ค่าสีเทากลาง 18% คือค่าที่กล้องพยายามจะทำให้ทุกอย่างในภาพเป็นแบบนั้น พูดง่ายๆกล้องไม่รู้เลยว่าสิ่งที่เรากำลังบันทึกมีสีอะไรเพราะกล้องจะพยายามทำให้กลายเป็นสีเทากลาง สีน้ำเงินที่ดำเข้มมากไปจะสว่างขึ้น หรือสีฟ้าจะดำลงเมื่อใช้กล้องบันทึก เราจึงต้องเป็นคนคอยตัดสินใจเองตลอดเวลา ซึ่งข้อดีของการถ่ายภาพที่มีค่าสีกลางเยอะๆจะเพิ่มโอกาสความเป็นไปได้ที่ภาพจะเคลียร์ใสเวลาแก้ไขภาพนั่นเอง (รายละเอียดในภาพก็อยู่ค่อนข้างครบถ้วน)

ค่าเทากลางในระบบสีแบบต่างๆ

เวลาเป็นสีเราคงดูไม่ออกว่ามันเทามืดเทาสว่างอย่างไร แต่กล้องก็มองเห็นเป็นแบบฝั่งขวาตลอด และถ้ามันมืดหรือสว่างกว่า กล้องจะปรับตามโหมดวัดแสงที่กำหนดไว้

ฮิสโตแกรมของภาพถ่าย

การมีความรู้เกี่ยวกับฮิสโตแกรมช่วยให้เราสามารถกำหนดทิศทางความเป็นไปของกลุ่มพิกเซลสีในภาพได้ เป็นส่วนที่ค่อนข้างเป็นรูปธรรมและเห็นการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ฮิสโตแกรมสามารถตั้งค่าให้ปรากฏที่หน้าจอกล้องได้เลยเวลาจะบันทึกภาพและก็แก้ไขได้อย่างอิสระเมื่อนำเข้ามาตกแต่งแก้ไขในโปรแกรมตกแต่งภาพ

เอาการแบ่งเป็นส่วนๆจากในโปรแกรม LR Classic CC ที่เคยวาดไว้มาให้ดู

คลื่นสัญญาณรบกวน

คลื่นสัญญาณรบกวน (น้อยซ์) เกิดขึ้นพร้อมๆกับอุปกรณ์ทุกอย่างที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ตามกฏที่ว่าในทุกกระบวนการย่อมมีการลดทอน (Load) อยู่เสมอ โดยที่ในภาพถ่ายนั้นจะมีน้อยซ์เกิดขึ้นสองประเภท ได้แก่น้อยซ์แสง (Luminance Noise) และ น้อยซ์สี (Color หรือ Chroma Noise) ทางที่ดีแล้วการบันทึกภาพด้วยความไวแสงต่ำจะหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านี้ได้ดีอยู่แล้ว แต่ถ้าทำไม่ได้ก็จำเป็นต้องศึกษาถึงวิธีการในการลดสิ่งเหล่านี้ในภาพให้ได้มากที่สุดโดยที่ไม่ไปยุ่งกับรายละเอียดในภาพโดยไม่จำเป็น

คลื่นสัญญาณรบกวนเยอะจนเละเท ซูมดูแทบไม่ได้

การตกแต่งแก้ไข

ในขั้นตอนการบันทึกภาพใดๆก็ตามควรกำหนดค่าเป็นไฟล์ภาพดิบ (RAW) แทนที่จะเป็น JPEG เนื่องจากว่าไฟล์ดังกล่าวมีคุณสมบัติที่ยืดหยุ่นและอนุญาตให้เราแก้ไขส่วนต่างๆของไฟล์ภาพได้โดยไม่ส่งผลกระทบของไฟล์ภาพต้นฉบับ อีกทั้งเมื่อนำเข้าโปรแกรมตกแต่งแก้ไขภาพอย่าง Sigma PhotoPro, Phocus, Lightroom Classic CC, Capture One Pro, Iridient Developer หรืออื่นๆ ก็จะแก้ไขได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพมากกว่า JPEG อย่างเทียบกันไม่ได้

โปรแกรม Sigma PhotoPro ที่ผู้สอนใช้อยู่เป็นปกติในการแต่งภาพ

ลำดับขั้นตอนการบันทึกภาพให้มีคุณภาพสูง

เราสามารถกำหนดภาพให้มีความสว่างใสได้ตั้งแต่หลังกล้องก็จริง แต่นั่นก็ยังไม่ใช่หนทางของการได้ภาพแสงเคลียร์ที่ดีที่สุดเนื่องจากว่ามักมีข้อผิดพลาดหรือจุดบกพร่องเล็กๆน้อยๆปรากฏให้เห็นอยู่เสมอ ลำดับขั้นตอนและวิธีการด้านล่างนี้จะแสดงให้ผู้เรียนเห็นว่ากระบวนการซึ่งให้ได้มาของภาพดังกล่าวนั้นต้องผ่านวิธีการใดบ้าง

1. ขั้นตอนการบันทึกภาพ

1.1 กำหนดไฟล์ภาพถ่ายเป็น RAW

การบันทึกไฟล์ภาพเป็นนามสกุล RAW นั้นมีข้อดีตรงที่ไฟล์จะได้รับการยกเว้นในการยุ่งเกี่ยวจากซอฟท์แวร์ตัวกล้องโดยสิ้นเชิง และมีความยืดหยุ่นสูงในการแก้ไขอย่างที่ JPEG ไม่สามารถเทียบได้เลย แต่อาจจะทำให้ผู้เรียนที่ไม่คุ้นชินกับการบันทึกไฟล์ในรูปแบบดังกล่าวรู้สึกหงุดหงิดตรงที่ไม่สามารถเปิดขึ้นได้โดยทันทีหากไม่มีซอฟท์แวร์มารองรับ จึงต้องตระเตรียมโปรแกรมสำหรับการตกแต่งแก้ไขไฟล์ดังกล่าวด้วย ในตัวอย่างที่เราจะใช้คือ Adobe Lightroom Classic CC ครับ

ภาพแสดงความแตกต่างระหว่างการทำงานของไฟล์ Raw และ Jpg

ข้อดีของ RAW ก็คือภาพจะไม่มีวันถูกเซฟทับเด็ดขาด

1.2 พิจารณาสภาพแสงที่พร้อมสำหรับการทำภาพเบื้องต้น

การเตรียมวัตถุดิบที่ดีก็เหมือนการได้ผักที่สดไว้ทำอาหาร จึงมีความกรอบอร่อยกว่าผักที่ไม่ได้คัดสรร แสงที่เหมาะสมสำหรับการทำภาพให้สว่างใสนั้นไม่ตายตัวแต่ก็มีหลักการว่าควรเป็นภาพถ่ายในที่ร่มสำหรับผู้ที่ไม่อยากแก้ไขอะไรมากมายนัก หรือดูว่าตรงไหนที่ไม่มีเงาทึบก็ใช้ตรงนั้นครับ

1.3 เลือกการวัดแสงอย่างใดอย่างหนึ่งที่เหมาะสม

สำหรับวัตถุโดดเด่นชิ้นเดียวอาจจะเลือกการวัดแสงแบบจุดแล้วบวกเพิ่มการชดเชยค่าตัวแปรการรับแสง (EV-Exposure Value) แต่ถ้ามีความเคลื่อนไหวอยู่ในภาพจนการวัดแสงเฉพาะจุดมีการแกว่งและทำได้ลำบากก็อาจต้องเปลี่ยนไปใช้แบบเฉลี่ยแทน หมั่นสังเกตฮิสโตแกรมด้วยว่ากลุ่มข้อมูลสีเป็นไปตามต้องการหรือยัง

ตัวเลือกวัดแสงของ Fuji X-T2 อยู่วงแหวนด้านล่างนะครับ

1.4 อย่าลืมเรื่องการจัดวางที่ดีและน่าสนใจด้วย

ทีแรกว่าจะไม่พูดถึงแล้ว แต่การจัดวางภาพที่สะอาดและหลีกเลี่ยงสิ่งรบกวนซึ่งจะนำพาสายตาของผู้ชมออกนอกลู่นอกทางจะทำให้เราประสบความสำเร็จในการนำเสนอได้ง่าย ลองเริ่มจากการถ่ายวัตถุสัก 1 ชิ้นง่ายๆดูก่อนเช่น ต้นไม้ต้นเดียวบนทุ่งหญ้า หรือ แก้วน้ำบนพื้นหลังเรียบๆก็ได้

หัดถ่ายภาพเรียบๆง่ายๆเข้าไว้ก่อน

2. ขั้นตอนการตกแต่งแก้ไขภาพ

เรากำลังพูดกันถึงไฟล์ภาพเมื่อนำลงคอมพิวเตอร์แล้วนำเข้าด้วยโปรแกรม Adobe Lightroom Classic CC เรียบร้อย ซึ่งถ้าผู้เรียนไม่ได้ใช้โปรแกรมดังกล่าวก็จบที่ขั้นตอนที่ 1 ได้เลย แต่ถ้าใช้อยู่ล่ะก็ด้านล่างนี้มีประโยชน์แน่นอน

2.1 กำหนดค่าการรับแสงพื้นฐานของภาพสว่าง

ภาพที่สว่างใสนั้นส่วนใหญ่กลุ่มเม็ดพิกเซลข้อมูลบนฮิสโตแกรมนั้นจะค่อนไปทางขวา (ยกเว้นกลุ่มสีมืดนะ) มีอยู่หลายวิธีที่ทำให้ภาพเป็นแบบนั้นซึ่งก็แล้วแต่ว่าใครถนัดแบบไหน ส่วนตัวผู้สอนชอบดึงสีส่วนกลางจากเส้นเคิร์ฟขึ้นเพราะค่อนข้างตรงใจมากกว่าการใช้สเกล Exposure แบบบวก

2.2 ทำสีที่มืดให้สว่างก็ได้ด้วย Luminance ใน HSL

ในบางครั้งสีที่มืดก็ยังบังคับให้สว่างได้ด้วยสเกล Luminance ใน HSL แต่ต้องพึงระวังให้ดีว่าโอเวอร์หรือเกินกว่าความเหมาะสมไปหรือเปล่าโดยการพิจารณาควบคู่กับฮิสโตแกรมของภาพเพราะไม่เช่นนั้นจะเกิดความด่างของสีเป็นกลุ่มๆในภาพ

พาเนล Hue-Saturation-Luminance ใน LR Classic CC

2.3 ใช้โปรแกรมอื่นที่ถนัดร่วมด้วยก็ได้

ไม่ได้บังคับว่าต้องเป็น Lightroom CC ถ้าหากผู้เรียนเห็นว่ามีโปรแกรมอื่นมีความฉลาดทางสเกลมากกว่า บางคนอาจจะใช้ Adobe Photoshop CC แก้ไขภาพต่อหลังจากแปลง RAW เป็นไฟล์ JPEG หรือ TIFF แล้วก็ได้ หรือใครจะใช้โปรแกรมอื่นที่ทำให้สว่างแบบง่ายๆก็ได้ตามแต่ถนัด

3. ขั้นตอนการส่งออกไปยังแหล่งเผยแพร่

การส่งออกในขั้นตอนสุดท้ายไม่ได้ถูกพูดถึงแบบเน้นหนักมากนักเพราะแหล่งเผยแพร่ภาพนั้นมีความเปลี่ยนแปลงไปตามขนาดไฟล์ด้วย เช่นถ้าเป็นเฟซบุ๊กอาจจะเป็นอีกขนาดหนึ่งหรือถ้าส่งภาพไปขายก็เป็นอีกขนาดหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีตัวแปรตั้งต้นไฟล์ที่ส่งผลต่อการปรับคมด้วย เช่นถ้ากำหนดรูรับแสงกว้างจนภาพเบลอฟุ้งอาจจะต้องปรับคมมากกว่าการใช้รูรับแสงแคบก็ได้

กี่ปีๆ สเกลแบบนี้ก็ยังใช้ได้อยู่ตลอดสำหรับ Facebook

ทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการที่ค่อนข้างครอบคลุมในการทำภาพที่มีคุณภาพ เห็นได้ว่ายังมีส่วนที่เป็นรายละเอียดย่อยที่ไม่ได้พูดถึงอยู่อีกซึ่งต้องอาศัยทั้งความรู้และการฝึกฝน ซึ่งถ้าทำได้แล้วจะรู้สึกว่าภาพดังกล่าวแทบไม่ได้ใช้การตกแต่งภาพมากมายอะไรเลย

บทความที่เกี่ยวข้องในหมวดนี้
เลนส์ทดระยะสำหรับสมาร์ทโฟนยังจำเป็นอยู่ไหม

สมาร์ทโฟนในปัจจุบันมีเลนส์เริ่มต้นมาให้หลายทางยาวโฟกัสในตัว ทั้งเลนส์มุมกว้างพิเศษ เลนส์มุมกว้าง เลนส์เทเลโฟโต้ และเลนส์ทางยาวโฟกัสอื่น ๆ แล้วถ้าครบขนาดนี้เรายังต้องซื้อเลนส์ทดระยะกันอีกไหม บทความนี้มีคำแนะนำดี ๆ ครับ

ฝึกฝนนิสัยถ่ายภาพด้วยเลนส์ไพร์ม

สิ่งที่ได้จากการใช้เลนส์ทางยาวโฟกัสเดียวไปสักระยะจะส่งผลต่อช่างภาพมือใหม่เพื่อฝึกฝนความอดทนและทลายขีดจำกัดของเลนส์ตัวนั้นได้อย่างไร เราจะได้เจาะลึกถึงการเติบโตด้วยข้อจำกัดเหล่านี้กัน

ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ช่วยให้ถ่ายภาพดีขึ้นอย่างไร?

ปัจจัยชี้วัดว่าช่างภาพใช้รูปของพวกเขาได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ขึ้นอยู่กับเคล็ดลับหรือกลเม็ดต่างๆที่ได้ศึกษามา บทความนี้จะได้มีการอธิบายถึงที่มาที่ไปของศิลปศาสตร์สาขาการถ่ายภาพนิ่งในมุมของของกลไกการเล่าเรื่องที่ผลักดันด้วยวิทยาศาตร์เพื่อชี้ให้เห็นว่าแท้จริงแล้วองค์ความรู้นั้นท้ายที่สุดมีความเชื่อมโยงกันทั้งหมด

ร้านค้าออนไลน์ภายใต้ชื่อผู้ก่อตั้ง ‘Dozzo Flamenco’ ที่นี่จะมีผลิตภัณฑ์สื่อการสอนและเทรนนิ่งคลาสระดับคุณภาพเท่านั้น

บทความล่าสุด >>
เคล็ดลับการถ่ายภาพหมู่บุคคล

ศึกษากลวิธีที่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยหลักของเหตุและผลในการทำให้ภาพถ่ายหมู่ที่มีบุคคลจำนวนมากในเฟรมมีความน่าสนใจกว่าที่เคย

5 เหตุผลที่ช่างภาพอาชีพควรเรียน Lightroom Classic

Lightroom Classic มีจุดเด่นสำคัญในการบริหารจัดการรูปภาพ ตกแต่งรูปภาพ และเผยแพร่รูปภาพอย่างครอบคลุมทั้งระบบ คุณสมบัติเหล่านี้ช่วยให้ช่างภาพมีความสะดวกในการบริหารจัดการยิ่งต้องเจอกับรูปภาพที่เพิ่มเข้ามาจำนวนมากในแต่ละเดือน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลวส่วนบบุคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า