คาเฟอีนจัดเป็นสารเสพติดที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก มีอยู่ในกาแฟ,ชา, โคล่า, ช็อกโกแลต และอื่นๆ สารดังกล่าวออกฤทธิ์กระตุ้นต่อประสาทส่วนกลางเพิ่มระบบเผาผลาญภายในร่างกาย ลดความง่วงและกระตุ้นการทำงานส่วนต่างๆ ส่งผลให้มีสมาธิและมีกลไกการตัดสินใจที่รวดเร็วมากยิ่งขึ้น แต่ผลดีเพียงอย่างเดียวคงไม่เรียกว่าสารเสพติดเพราะคาเฟอีนก็ทำให้ร่างกายเกิดความแปรปรวนไม่ว่าจะเป็นความดันเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนเป็นภาระของหัวใจในช่วงระยะเวลาหนึ่ง อีกทั้งการถอนฤทธิ์คาเฟอีนในร่างกายคนปกติอาจจะใช้เวลา 2-3 วัน ซึ่งจะนานมากขึ้นสำหรับผู้ที่มีปัญหาโรคไต หรือผู้ที่มีปัญหาในการขจัดสารออกจากร่างกาย
การออกถ่ายภาพที่ต้องใช้การเคลื่อนไหวและการตัดสินใจที่รวดเร็วฉับไว คาเฟอีนอาจเป็นตัวกระตุ้นที่จำเป็นในชั่วโมงที่ต้องใช้ มีผลวิจัยออกมาว่าช่วงที่คาเฟอีนออกฤทธิ์สามารถลดภาวะซึมเศร้าและคลายความกังวลลงได้มาก อีกทั้งยังเพิ่มความจดจ่อกับสิ่งที่ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าปกติที่ไม่ดื่ม (แม้ว่าอาการซึมเศร้าและกระวนกระวายจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยช่วงหมดฤทธิ์หรือถอนกาแฟ) จึงส่งผลให้ความแม่นยำในการควบคุมอุปกรณ์เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการถือกล้องได้นิ่งมากยิ่งขึ้น หรือการตัดสินใจใช้โหมดต่างๆได้เร็วมากขึ้น และจะต้องเป็นการเลือกใช้ในขณะที่ร่างกายมีความสมบูรณ์พร้อม ไม่ใช่การอดนอนมาอย่างยาวนานและเลือกใช้สารคาเฟอีน
คาเฟอีนปรากฏอยู่ในเครื่องดื่มหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นชา, กาแฟ ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ต้องรู้จักใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ
จำไว้ว่าการออกฤทธิ์ของสารคาเฟอีนในกระแสเลือดจะคงอยู่เป็นเวลา 3-4 ชั่วโมง การเลือกใช้ในช่วงที่ไม่ส่งผลต่อการนอนหลับหรือการหลั่งฮอร์โมนที่จำเป็นต่อร่างกาย หรือช่วงเวลาคาบเกี่ยวไปยังเวลากลางคืนจะช่วยลดภาวะการนอนหลับยากอันเกิดมาจากการบริโภคสารดังกล่าวได้
มีการทดลองในกลุ่มตัวอย่างของผู้ออกกำลังกายแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกได้รับสารคาเฟอีนหลอกและอีกกลุ่มได้รับสารคาเฟอีนจริงพร้อมทั้งมีการวัดค่าความดันเลือดและอัตราการเต้นของหัวใจด้วยการออกกำลังกายสองแบบคือ Bench Press (นอนยกน้ำหนัก) และ Leg Press (เครื่องออกกำลังกายที่ใช้แรงขาต้านน้ำหนัก) ปรากฏว่ากลุ่มที่ได้รับสารคาเฟอีนสามารถรับน้ำหนักได้เพิ่มขึ้นราวๆ 11-12% ซึ่งถือว่าไม่ได้มีนัยสำคัญอะไร (เช่น จาก 1 เป็น 1.1 กิโลกรัม) แต่ในอีกการทดลองหนึ่งที่ทดสอบความทนทานของร่างกายปรากฏว่ามีผลลัพธ์ที่ชัดเจนมากกว่า ในด้านประสิทธิภาพความทนทานต่อความเมื่อยล้าและจำนวนครั้งที่ทำโดยมีอาการถดถอยของร่างกายน้อยกว่า
คาเฟอีนที่ถูกทดสอบในการทดลองประสิทธิภาพกล้ามเนื้อ (Strength) ไม่ได้แตกต่างจากกลุ่มใช้คาเฟอีนหลอกอย่างมีนัยสำคัญ
แต่จะไปช่วยในเชิงของความอึดและความทนทาน (Endurance) มากกว่า
การทดสอบดังกล่าวย่อมเป็นหลักฐานที่ยืนยันได้ว่าเราสามารถที่ใช้ประโยชน์จากสารคาเฟอีนเพื่อต่อต้านความเมื่อยล้าที่อาจเกิดจากการแบกกล้องหรือสัมภาระต่างๆได้นานขึ้น เพราะการออกรอบถ่ายภาพในแต่ละครั้งใช้เวลาไม่น้อย เช่น การถ่ายภาพพิธีสำคัญๆของลูกค้า หรือทริปถ่ายภาพต่างๆ
เคล็ดลับในการบริโภคสารคาเฟอีนให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดจะต้องใช้ก่อนเวลา 14:00 น. ของแต่ละวัน และเพื่อให้การดูดซึมเกิดขึ้นทีละน้อยๆและไม่หมดฤทธิ์เร็วเกินไป ต้องมีการบริโภคพร้อมกับอาหารที่มีคุณภาพดี โปรตีน,ไขมัน และ คาร์โบไฮเดรต หมายความว่าไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีสารคาเฟอีนเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้การเลือกแหล่งที่มาของเครื่องดื่มคาเฟอีน เช่น เมล็ดพันธุ์กาแฟออร์แกนิก ก็ช่วยลดโอกาสในการรับพิษจากยาฆ่าแมลง นอกจากนี้ก็ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีนที่มีสารปรุงแต่งที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เช่น ครีมเทียม เป็นต้น
สาเหตุที่ควรรับสารคาเฟอีนก่อน 14:00 น. เพราะช่วงเวลาในการออกฤทธิ์ไปจนสู่ช่วงหมดฤทธิ์
จะไม่ส่งผลกระทบในช่วงเย็นซึ่งควรเป็นเวลาในการพักผ่อนนั่นเอง
400 มิลลิกรัม คือปริมาณของสารคาเฟอีนที่ร่างกายของผู้ใหญ่สามารถบริโภคใน 1 วัน เปรียบเทียบได้กับการดื่มกาแฟราวๆ 4 แก้ว หรือเครื่องดื่มโคล่า 4 กระป๋อง หรือเครื่องดื่มชูกำลัง 2 ขวด ทั้งนี้ต้องระวังการบริโภคหากร่างกายมีความไวต่อสารดังกล่าวมากเกินไป นอกจากนี้ปริมาณดังกล่าวเป็นปริมาณที่คนส่วนใหญ่สามารถบริโภคได้โดยเกิดผลข้างเคียงต่ำ ทางที่ดีควรบริโภคให้ต่ำกว่าได้จะดีที่สุด และไม่ควรบริโภคติดต่อกันจนเกิดภาวะเสพติดที่ต้องใช้คาเฟอีนมากขึ้นเพื่อให้ได้ผลลัพธ์เท่าเดิม
ทุกอย่างมีขีดจำกัดของมัน อย่าบริโภคจนเกิด Overdose นะครับ ปริมาณ 400mg มาจากปริมาณร่างกายคนอเมริกันโดยส่วนใหญ่
(ซึ่งแต่ละวันเฉลี่ยต่อคนเขาบริโภคกันราวๆ 300mg)
ทุกอย่างมีข้อดีข้อเสีย การเลือกใช้สารกระตุ้นไม่ควรถูกใช้อย่างเปล่าประโยชน์ การดื่มแต่น้อยเพื่อให้เกิดการตื่นตัวตามสมควรน่าจะเป็นผลดีกับร่างกายมากกว่าการดื่มเพื่อกระตุ้นใช้ในระยะเวลายาวนาน เพราะยังไงคาเฟอีนก็คือสารเสพติด แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้วล่ะก็หลักการเหล่านี้น่าจะมีประโยชน์สำหรับผู้ที่จำเป็นต้องใช้ครับ
- เฉลียว ปิยะชน อายุรเวท ศาสตร์แห่งชีวิต พิมพ์ครั้งที่ 2 สถาบันการแพทย์แผนไทย กระทรวงสาธารณสุข โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก กรุงเทพฯ 2537
- Warren GL, Park ND, Maresca RD, McKibans KI, Millard-Stafford ML. Effect of caffeine ingestion on muscular strength and endurance: a meta-analysis.https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/20019636.
- Beck TW, Housh TJ, Schmidt RJ, Johnson GO, Housh DJ, Coburn JW, Malek MH. The acute effects of a caffeine-containing supplement on strength, muscular endurance, and anaerobic capabilities. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/16937961
- Astorino TA, Rohmann RL, Firth K. Effect of caffeine ingestion on one-repetition maximum muscular strength. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/17851681
- Bordeaux B, et al. Benefits and risks of caffeine and caffeinated beverages. http://www.uptodate.com/home. Accessed Nov. 26, 2016.
- Dietary guidelines for Americans, 2015-2020. U.S. Department of Health and Human Services. https://health.gov/dietaryguidelines/2015/guidelines/. Accessed Nov. 26, 2016.
- Frawley, D. and Lad, V. The Yoga of Herbs. An Ayurvedic guide to herbal medicine. (Reprint). Motilal Banarsidass publishers, Delhi. 2000.
- Renda G, et al. Genetic determinants of cognitive responses to caffeine drinking identified from a double-blind, randomized, controlled trial. European Neuropharmacology. 2015;25:798.
- Bope ET, et al. Popular herbs and nutritional supplements. In: Conn’s Current Therapy 2016. Philadelphia, Pa.: Elsevier, 2016. http://clinicalkey.com. Accessed Nov. 26, 2016.
- Caffeine. Natural Medicines Comprehensive Database. http://www.naturaldatabase.com. Accessed Nov. 26, 2016.
- Svatikova A, et al. Potentiated blood pressure responses to energy drink intake in caffeine naïve healthy adults: A double-blind randomized controlled study. Journal of the American College of Cardiology. 2015;65:A1432.
- Maski K. Insufficient sleep: Evaluation and management. http://www.uptodate.com/home. Accessed Nov. 26, 2016.
- Heckman MA, et al. Caffeine (1, 3, 7-trimethylxanthine) in foods: A comprehensive review on consumption, functionality, safety, and regulatory matters. Journal of Food Science. 2010;75:R77.
- Zeratsky K (expert opinion). Mayo Clinic, Rochester, Minn. Dec. 9, 2016.
- Nehlig A. Health effects of coffee/caffeine on brain health and disease: What should I tell my patients? Practical Neurology. 2016;16:89.
- Duyff RL. Fluids. In: American Dietetic Association Complete Food and Nutrition Guide. 4th ed. Hoboken, N.J.: John Wiley & Sons; 2012.