Sigma DP3 Quattro – ย่างก้าวแห่งเจตจำนงอิสระ

“อุปสรรคที่เกินทน จะหลอมคนให้ทนทาน ความสบายที่ยาวนาน จะรอนรานความเป็นคน”

 

คนเราจะมองเห็นบางสิ่งมีคุณค่าก็ต่อเมื่อเราให้คุณค่ากับมัน หลายปีมานี้ผู้สอนพยายามค้นหาคำตอบของการถ่ายภาพที่ให้คุณภาพที่ดีที่สุดโดยปราศจากภาระด้านน้ำหนักที่มากเกินไป แม้ว่าคำอธิษฐานลมๆแล้งๆต้องแลกกับข้อจำกัดอย่างมากมาย จนในที่สุด Sigma DP3 Quattro ก็ได้ถือกำเนิดมาด้วยคุณภาพของภาพถ่ายอันเหลือเชื่อ พร้อมข้อจำกัดท้าทายกระแสนิยมราวกับว่าถ้าอยากมีประสาทสัมผัสทางหูที่ดีจะต้องแลกด้วยการยอมเป็นคนตาบอดอย่างนั้น ยิ่งในยุคที่ไม่มีใครยอมอ่อนข้อให้ความอดทนเล็กๆน้อยๆแล้วแบบนี้ กล้องรุ่นดังกล่าวจึงเลือนหายไปจนแทบไม่มีใครจดจำ

บทความนี้ไม่ใช่การพูดถึงข้อดีข้อเสีย ตรงกันข้ามมันคือการตอบคำถามว่า “ต้องเป็นคนแบบไหนถึงใช้กล้องตัวนี้ได้”

นี่คือเรื่องราวของ Sigma DP3 Quattro ผ่านมุมมองของคนใช้งานจริงทั้งวัน ตั้งแต่วันที่ 12/12/59 – 28/04/60 และจะยังคงใช้ต่อไปจนกว่าจะสิ้นอายุขัยของมันเอง

Sigma DP3 Quattro กับ LCD Viewfinder Kit
ที่มา [Cliffon Cameras]

DP Quattro กับรูปลักษณ์ที่แปลกตา

กล้องถ่ายภาพดิจิตอล Sigma ซีรี่ย์ DP Quattro มีรูปลักษณ์ที่ต่างไปเมื่อเทียบกับกล้องถ่ายภาพดิจิตอลที่เคยพบเห็น รูปทรงแบนยาวและทำมุมโค้งคล้ายทรงกระดูกดูล้ำสมัย งานประกอบแน่นหนา ในรุ่นของ DP3 Quattro มาพร้อมกับเลนส์มาโครทางยาวโฟกัส 50mm (เทียบเท่า 75mm บนเซ็นเซอร์ฟูลเฟรม) รูรับแสงกว้างสุด 2.8 น้ำหนัก 495 กรัม (ไม่รวม LCD Viewfinder)

ทางยาวโฟกัสที่ส่งผลต่อมุมรับภาพ

DP Quattro ทั้งซีรี่ย์ไม่มีช่องมองภาพกระจกแบบ Optical Viewfinder และไม่ง่ายที่จะมองจากจอ LCD เมื่ออยู่กลางแจ้ง ควรติดตั้งชุดอุปกรณ์ช่องมอง (LCD Viewfinder) แบบถอดเข้าออกง่ายไว้เสมอ

Foveon เซ็นเซอร์ที่ให้รายละเอียดดีมากที่สุดในขณะนี้

ก่อนอื่นคงต้องทำความเข้าใจกันสักนิดว่า เซ็นเซอร์ที่กล้องถ่ายภาพดิจิตอลโดยส่วนใหญ่ใช้กันอยู่ หรือที่เรียกว่า Bayer Sensor จะมีการเรียงตัวของชั้นฟิลเตอร์ แดง-เขียว-น้ำเงิน (RGB Color Filters) แบบสลับไขว้ไปมาในรูปแบบของตำแหน่งพิกเซลตาราง

ด้วยความที่ไม่ว่าจะตำแหน่งใดบนหน้าแปลนเซ็นเซอร์ก็ตามจะไวกับแม่สีแสงเพียงแม่สีเดียว ข้อมูลของแต่ละแม่สีที่ได้รับจึงไม่ใช่ความละเอียดแบบเต็มๆที่ควรจะได้รับ (พิกเซลสีเขียวจะวางมากเป็นสองเท่าของพิกเซลสีแดงและน้ำเงิน เพราะเป็นคลื่นแสดงที่รายละเอียดภาพได้ดีกว่า) ผลที่เกิดขึ้นจากการรับข้อมูลในลักษณะตารางประกบ ความชาญฉลาดของหน่วยประมวลจึงต้องรับหน้าที่นี้ไป เรียกว่าการสังเคราะห์สีเทียบเคียงจะเกิดขึ้นมากถึง 2/3 ของภาพ ในขณะที่ Foveon ไม่ต้องสังเคราะห์อะไรเลย

bayerSensor

การเรียงตัวของชั้นฟิลเตอร์สีแบบ Foveon เป็นแบบเต็มๆซ้อนกันถึงสามชั้น คล้ายกับฟิล์มถ่ายรูปที่มีชั้นเคลือบความไวแสงครบทุกชั้นอยู่ในตัวเดียว ภาพที่ได้จึงเกิดจากการรับแสงๆ 100% ในทุกชั้นฟิลเตอร์สี มีคนบอกว่าเป็นกล้องที่ให้รายละเอียดยิบย่อยได้เหมือนฟิล์มอย่างไม่น่าเชื่อ และรายละเอียดที่ซับซ้อนขนาดเล็กเช่นลายของเสื่อ หรือภาพตารางต่างๆก็ไม่มีข้อบกพร่องอย่างที่เซ็นเซอร์ทั่วไปพบเจอเลยแม้แต่น้อย

foveonSensor

Foveon Sensor (Code Name : “Merrill”) ใน Sigma ซีรี่ย์ Merrill ที่ผ่านมา

แต่ดูเหมือนว่าทาง Sigma เองพยายามที่จะปรับเปลี่ยนและพัฒนาให้กล้องถ่ายภาพดิจิตอลในรุ่น Quattro มีการทำงานที่ดีและไวขึ้น จึงได้ทำการออกแบบอาร์เรย์ฟิลเตอร์เสียใหม่ โดยที่ลดความหนาแน่นของชั้นกรองสีเขียวและสีแดงลงเหลือเพียง 1 ใน 4 ของชั้นสีน้ำเงิน โดยกล่าวว่าชั้นสีน้ำเงินนั้นให้รายละเอียดมากที่สุด ผลที่ดีได้คือกล้องในซีรี่ย DP Quattro จะมีรายละเอียดน้อยกว่าซีรี่ย์ Merrill และแลกมาด้วยความไวแสงที่เพิ่มขึ้น พร้อมกับการทำงานส่วนต่างๆที่ไวขึ้นเล็กน้อย

Foveon Sensor (Code Name : “Quattro”) ใน Sigma DP3 Quattro

Sigma DP Quattro ใช้เซ็นเซอร์ขนาด APS-C

เซ็นเซอร์ที่มีเทคโนโลยีในการพัฒนาเท่ากันแต่ขนาดต่างกัน เซ็นเซอร์ที่มีขนาดใหญ่กว่าจะรับแสงได้มากกว่า ผลดีก็เช่นข้อมูลภาพทำได้ดีกว่าและคุณภาพสูงกว่าเซ็นเซอร์ขนาดเล็กกว่า แต่ต้องไม่ลืมว่าเทคโนโลยีของ Sigma คือ Foveon 3X ที่ให้รายละเอียดภาพมากกว่าปกติราวๆ 3 เท่า จึงชกข้ามรุ่นกับเซ็นเซอร์ขนาด Full Frame ได้สบาย

ด้านล่างนี้เป็นขนาดของเซ็นเซอร์ที่มีในปัจจุบันโดยจะเริ่มให้เซ็นเซอร์ขนาด Full Frame เทียบเท่าฟิล์มเนกาทีฟขนาด 35มม. ของกล้องฟิล์มเป็นขนาดที่ใหญ่สุด (ความจริงมีใหญ่กว่านี้อีก) ไล่ขนาดลงไปเรื่อยๆจนเล็กสุด

sensorSize

ขนาดเซ็นเซอร์ของ Sigma DP Quattro คือ APS-C

เทคนิคการเพิ่มความคล่องตัวและความแม่นยำในการใช้งาน

Sigma DP3 Quattro เป็นกล้องที่ใช้งานยากกว่าปกติทั่วไปอย่างรู้สึกได้ ไม่ว่าจะเป็นแบตเตอรี่ที่หมดเร็วมาก, ISO ที่เริ่มแย่ตั้งแต่ 400 หรือระบบโฟกัสที่เชื่องช้าจนบางครั้งหมุนเองยังดีเสียกว่า

เทคนิคด้านล่างนี้เป็นตัวอย่างคร่าวๆจากหลักสูตรพิเศษ “ถ่ายกับมือ” (Handheld Mastery)  ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้การเพิ่มศักยภาพของตัวผู้ใช้งานเพื่อควบคุมหรือหยิบใช้งานกล้องถ่ายภาพดิจิตอลเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูง เทคนิคดังกล่าวใช้ได้ดีในทุกสถานการณ์ ทำให้กล้องที่คิดว่าไม่น่าจะพกทั้งวันได้เลยอย่าง Sigma DP3 Quattro กลายเป็นกล้องที่เหมือนจะไม่ได้สร้างความเดือดร้อนอะไรเท่าไหร่นัก

การฝึกฝนความนิ่งของมือด้วยตนเอง (Handheld Self-Stabilization)

มีเทคนิคที่แตกย่อยออกไปมากมายเพื่อการถ่ายภาพให้นิ่งสนิทซึ่งจะต้องแยกออกมาเพื่อลงรายละเอียดเพิ่มเติมอีก เช่น การเปลี่ยนท่าถือกล้องให้เหมาะสมกับกล้องแต่ละชนิด หรือ การทำร่างกายให้พร้อมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับสมาธิชั่วขณะ สิ่งเหล่านี้เกิดผลลัพธ์ได้จริงแต่ควรเลือกใช้ให้เหมาะสม

ด้านบนนี้คือตัวอย่างคร่าวๆในแบบฝึกหัดที่ผู้ลงทะเบียนหลักสูตร Handheld Mastery จะได้ฝึกฝนกัน

อุปกรณ์สร้างแหล่งกำเนิดแสง (Light Source Equipments)

ตัวช่วยพิเศษที่หมายถึงอะไรก็ได้ที่เพิ่มแสงให้กับภาพ เช่น ไฟฉาย หรือ พลุไฟ ตัวช่วยเหล่านี้มีประโยชน์สำหรับการถ่ายภาพที่มืดมิดเพราะทำให้เราโฟกัสภาพได้ง่ายขึ้น และแสงก็ยังช่วยเปิดรายละเอียดได้ดี จากภาพตัวอย่างนั้นเป็นอุปกรณ์แท่งไฟ IceLight ที่ใช้ในเวลาที่ต้องการแสงนุ่มๆในเวลากลางขึ้น ขนาดเท่าแท่งกระบอง 1 อัน

แสงทำให้โฟกัสง่ายขึ้นและมีความเร็วชัตเตอร์เพิ่มขึ้น

ภาพจาก Sigma DP3 Quattro ที่ใช้ร่วมกับ Westcott Icelight 2

ภาพที่ผ่านมากับ Sigma DP3 Quattro

เกือบครึ่งปีแล้วที่ผู้สอนพยายามใช้แต่กล้อง Sigma DP3 Quattro โดยยอมที่จะเก็บกล้องถ่ายภาพตัวอื่นไว้ที่ห้องไม่เอาไปไหนเลย การถ่ายภาพดำเนินไปด้วยความเชื่องช้า ความลำบากกลายเป็นความชินแล้วก็เริ่มสนุกขึ้น พยายามมีสติกับสิ่งที่ทำมากขึ้น และเมื่อทุกครั้งที่เปิดภาพขึ้นมารู้สึกว่าหายเหนื่อยกับสิ่งที่ได้ ดังที่ได้นำเสนอเป็นแกลเลอรีคร่าวๆด้านล่างนี้

ความเห็นส่วนตัวจากผู้สอนกับ Sigma DP3 Quattro

ชีวิตที่เป็นอยู่ทุกวันนี้คือเงาสะท้อนปรัชญาความคิดของคนๆนั้น สิ่งนี้ยังคงเป็นจริงเสมอมา เมื่อใดก็ตามที่เราต้องลำบากกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งธรรมชาติจะชดเชยสิ่งเหล่านั้นกลับคืนมาให้เสมอด้วยหลักแห่งความสมดุล

Sigma DP3 Quattro คือกล้องที่สร้างความลำบากยากเข็ญให้กับผู้ที่รักความสบายอย่างแน่นอน แรงเสียดทานอย่างดีนี้เป็นบทพิสูจน์ให้กับผู้ที่ต้องการความก้าวหน้าในการถ่ายภาพ, ฝึกฝนมุมมอง และเกือบทุกๆอย่าง ถ้ายังไม่ล้มเลิกแล้วขายกล้องทิ้งไปเสียก่อนปัญหาจะค่อยๆถูกแก้ไขด้วยความสามารถ เมื่อใช้งานได้คล่องแคล่วแล้วก็ต้องไม่ลืมว่ากล้องถ่ายภาพเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งของการถ่ายภาพ ภาพถ่ายจะดีได้เพียงไรนั้นยังขึ้นอยู่กับองค์ประกอบสำคัญอีกหลายอย่าง ข้อจำกัดของ Sigma DP3 Quattro เป็นเหมือนกรอบที่ทำให้เกิดการโฟกัสกับสิ่งที่ทำได้ง่ายขึ้น และไม่วอกแวกไปกับสิ่งอื่น

แต่ละคนต่างก็มีวิธีจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตต่างกันออกไป บางคนเผชิญหน้าอย่างท้าท้ายโดยปราศจากความกลัว, บางคนเลือกที่จะหันหลังให้กับปัญหา, บางคนกลัวจนไม่กล้าทำอะไร ถ้ามองดีๆแล้วการแก้ไขปัญหาในแต่ละครั้งจะเพิ่มพูนประสบการณ์และทำให้เราก้าวหน้ามากขึ้น ถึงจะเป็นเพียงก้าวเล็กๆก็ตามที

ผู้สอนมองว่าความทุกข์เป็นเหตุของความก้าวหน้า ผู้ที่ศรัทธาในความจริงอันประณีตเขาจะมองเห็นความงามในทุกๆที่ เหมือนมุมมองที่เห็นในภาพถ่ายสวยๆแล้วสงสัยว่าถ่ายมาได้ยังไงนั่นล่ะ

บทสรุป

เมื่อทุกอย่างได้กล่าวไปหมดแล้ว ผู้สอนคงไม่บังคับให้ใครก็ตามที่กำลังอ่านบทความนี้ต้องทำตามหรือเอาเป็นแบบอย่าง เพราะกรอบความคิดและประสบการณ์ที่ไม่เหมือนกัน ดังนี้แล้วทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเลือกทางเดินของตัวเองเพราะปลายทางของความสำเร็จไม่ได้เกิดจากถนนเพียงสายเดียว ไม่ใช่แค่เรื่องถ่ายภาพแต่เป็นทุกๆเรื่อง ขอให้พิจารณาให้ดีก่อนตัดสินใจทำอะไรสักอย่างและขอให้มีความสุขกับสิ่งที่ทำครับ

บทความที่เกี่ยวข้องในหมวดนี้
เกรนกับความคมชัดของภาพถ่าย

ถ้าเพิ่มเกรนน้อยเกินไปภาพก็ดูเหมือนจะไม่มีความแตกต่าง แต่ถ้าใส่มากเกินไปภาพก็แข็งกระด้าง ดังนั้นควรมีเกรนในปริมาณเท่าใดในภาพจึงจะช่วยให้ภาพดูดีขึ้น และใช่ เรากำลังพูดถึงเกรนในมุมที่เกี่ยวข้องกับความคมชัดของภาพถ่ายครับ

ฝึกฝนนิสัยถ่ายภาพด้วยเลนส์ไพร์ม

สิ่งที่ได้จากการใช้เลนส์ทางยาวโฟกัสเดียวไปสักระยะจะส่งผลต่อช่างภาพมือใหม่เพื่อฝึกฝนความอดทนและทลายขีดจำกัดของเลนส์ตัวนั้นได้อย่างไร เราจะได้เจาะลึกถึงการเติบโตด้วยข้อจำกัดเหล่านี้กัน

จัดการน้อยส์อย่างมีประสิทธิภาพสูง

หลายครั้งที่คุณสมบัติปัญญาประดิษฐ์อย่าง Denoise ปิดกั้นหนทางลดน้อยส์เกินไป ถึงเวลาแล้วที่เราจะลดน้อยส์ด้วยธีที่ละเอียดมากกว่าอย่าง Manual Noise Reduction

ร้านค้าออนไลน์ภายใต้ชื่อผู้ก่อตั้ง ‘Dozzo Flamenco’ ที่นี่จะมีผลิตภัณฑ์สื่อการสอนและเทรนนิ่งคลาสระดับคุณภาพเท่านั้น

บทความล่าสุด >>
เกรนกับความคมชัดของภาพถ่าย

ถ้าเพิ่มเกรนน้อยเกินไปภาพก็ดูเหมือนจะไม่มีความแตกต่าง แต่ถ้าใส่มากเกินไปภาพก็แข็งกระด้าง ดังนั้นควรมีเกรนในปริมาณเท่าใดในภาพจึงจะช่วยให้ภาพดูดีขึ้น และใช่ เรากำลังพูดถึงเกรนในมุมที่เกี่ยวข้องกับความคมชัดของภาพถ่ายครับ

การใช้งานคู่สีตรงข้าม

เรื่องของคู่สีรายล้อมรอบตัวเราอยู่ตลอดเวลา และ ‘คู่สีตรงข้าม’ (Complementary Colors) ก็จัดว่าเป็นการเข้าคู่ที่รุนแรงและทรงพลังอย่างมาก หากจะหยิบมาเพื่อใช้งานต้องเรียนรู้และเข้าใจวิธีหลีกเลี่ยงผลลัพธ์เชิงลบบางประการจึงจะเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลวส่วนบบุคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า